บทคัดย่อ
แบบแผนรายจ่ายสุขภาพภาครัฐในแผนพัฒนาการสาธารณสุขฉบับที่ 5 - 6 - 7 ( พ.ศ. 2525 - 2539 )งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อประเมินว่าในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ในแผนพัฒนาการสาธารณสุขฉบับที่ 5-7 (2525-2539) มีแบบแผนการจัดงบประมาณสาธารณสุขไปสู่กิจกรรมต่างๆ ( เช่น การบริหาร การรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค ฯลฯ ) รวมทั้งแบบแผนการจัดสรรตามเขตพื้นที่ (ส่วนกลาง เขตเทศบาล เขตสุขาภิบาล และนอกเขตสุขาภิบาล) วิธีการศึกษา ผู้วิจัยกำหนดสัดส่วนของงบประมาณตามแผนงานโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุขของส่วนราชการทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ไปยังกิจกรรมหลัก 11 ประเภท และกิจกรรมย่อย 36 ประเภท และเขตพื้นที่ 4 เขต หลักเกณฑ์และสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณนี้ ได้รับการทบทวนและให้ความเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงบประมาณด้านสาธารณสุขจำนวน 10 ท่าน ผู้วิจัยปรับแก้สัดส่วนตามข้อเสนอแนะ และจัดทำรายงานแบบแผนการจัดสรรงบประมาณจำนวน 15 ปีงบประมาณผลการศึกษาพบว่า 1) หน่วยราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับงบประมาณในสัดส่วนสูงสุด ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา กรมอนามัยและกรมควบคุมโรคติดต่อได้รับงบประมาณรวมกันเท่ากับร้อยละ 15.6, 16 และ16.5 ในแผน 5, 6 และแผน7 ตามลำดับ 2) เมื่อเทียบแผนทั้งสาม ในแผน 5 งบประมาณจัดสรรสำหรับงบดำเนินการสูงสุด ในแผน 6 งบประมาณจัดสรรสำหรับเงินเดือนค่าจ้างสูงสุด ในแผน 7 งบประมาณจัดสรรสำหรับการลงทุนสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์สูงสุด3) แบบแผนการจัดสรรงบประมาณสาธารณสุข บริการรักษาพยาบาลมีสัดส่วนสูงสุดแต่มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 58.54 เป็น 57.91 และ 55.52 ในแผน 5, 6 และ7 ตามลำดับ เมื่อรวมกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรคเข้าด้วยกันแล้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในแผน 7 โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 27.4 เป็น 27.1 และ 31ของงบประมาณด้านสาธารณสุขทั้งหมดในแผน 5, 6 และ 7 ตามลำดับ รัฐบาลไทยลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านสาธารณสุขน้อย โดยมีสัดส่วนงบประมาณต่ำสุด ต่ำกว่าครึ่งเปอร์เซนต์โดยเท่ากับร้อยละ 0.23, 0.27 และ 0.33 ในแผน 5, 6 และ 7 ตามลำดับ ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพพบว่า อนามัยส่ิ่งแวดล้อมเพิ่มความสำคัญมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.2 ในแผน 5 เป็นร้อยละ 4.1 ในแผน 6 และเป็นร้อยละ 6.0 ในแผน 7 ภายใต้กิจกรรมควบคุมป้องกันโรคพบว่า งานสร้างภูมิคุ้มกันโรค การควบคุมป้องกันโรคเอดส์ และการควบคุมโรคไม่ติดต่อ เพิ่มสัดส่วนตามลำดับในช่วงสามแผน โดยการควบคุมโรคติดต่อเฉพาะ ได้ลดลำดับความสำคัญลงและสัดส่วนงบประมาณลง รัฐบาลไทยลงทุนจ้างข้าราชการ ลูกจ้างประจำโดยใช้เงินงบประมาณในสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 45 ในแผน 5 ร้อยละ 51ใน 6 และร้อยละ 40 ในแผน 7 แต่ได้ลงทุนน้อยเกินไป สำหรับการพัฒนาให้บุคลากรด้านสาธารณสุขเพื่อให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยสัดส่วนงบประมาณเพื่อการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรเทียบกับงบประมาณหมวดเงินเดือนค่าจ้าง มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 2.6 เป็นร้อยละ 2.2 และร้อยละ 1.3 ในแผน 5, 6 และ 7 4) แบบแผนการจัดสรรงบประมาณตามเขตพื้นที่ ได้แก่ ส่วนกลาง เทศบาล สุขาภิบาล และนอกเขตสุขาภิบาล สรุปแบบแผนการจัดสรรในรอบ 15 ปี พบว่ายังมุ่งเน้นจัดสรรให้ระบบสาธารณสุขภาครัฐในส่วนกลางแต่มีแนวโน้มลดลงในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ทิศทางของการจัดสรรทรัพยากรให้ความสำคัญแก่ระดับเทศบาลเพิ่มขึ้นตามลำดับ ได้แก่ บริการในระดับจังหวัดและเทศบาลในระดับอำเภอขนาดใหญ่หรือตำบลขนาดใหญ่เป็นต้น รวมทั้งหน่วยงานสนับสนุนในระดับจังหวัด ทิศทางการจัดสรรทรัพยากรด้านสาธารณสุขแก่ระบบสาธารณสุขในระดับสุขาภิบาลและนอกเขตสุขาภิบาลลดลง 5) รายจ่ายจริงงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2539 งบประมาณต่อหัวคนไทยเฉลี่ยทั่วประเทศเท่ากับ 557 บาท เมื่อกำหนดให้ 557 บาทต่อคนต่อปีมีดัชนีเท่ากับหนึ่ง ภาคที่มีดัชนีมากกว่าหนึ่งหมายถึงได้รับจัดสรรงบประมาณสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ส่วนภาคที่ได้รับงบประมาณน้อยกว่าหนึ่งได้แก่ 3 จังหวัด รอบกรุงเทพ (นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ