บทคัดย่อ
จากการทบทวนพบว่า การดำเนินการถ่ายโอนงานสาธารณสุขล่าช้า ขาดการเตรียมความพร้อมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อบจ.) ยังไม่มีโครงสร้างการบริหารงานสาธารณสุขขอองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ชั้น 1 และเทศบาล เท่านั้นที่มีส่วนสาธารณสุขรองรับ เมื่อวิเคราะห์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการรองรับการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข จุดแข็งคือผู้บริหารมีความรู้ความสามารถมากขึ้น สนใจการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนมากขึ้น งบประมาณมีมากขึ้น มีความคล่องตัว รู้ปัญหาของประชาชน บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ โอนย้ายเข้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น องค์กรไม่ซับซ้อนจัดระบบการตรวจสอบทำได้ง่าย จุดอ่อน คือ มีข้อสงสัยเรื่องความไม่โปร่งใส บุคลากรที่มีอยู่เดิมยังขาดทักษะและประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านสาธารณสุข อบต.ส่วนใหญ่ยังไม่มีส่วนงานสาธารณสุข สำหรับโอกาส คือ การเปลี่ยนแปลงระบบหลักประกันสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ (โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)) การปฏิรูประบบสุขภาพ เกื้อหนุนต่อการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับพื้นที่ การตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่นโดยองค์กรอื่นหรือภาคประชาชนจะทำได้ง่ายกว่าการบริหารโดยส่วนกลางที่ตรวจสอบได้ยาก ส่วนอุปสรรค คือ รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องกระจายอำนาจอย่างจริงจัง ผู้ว่า CEO จะเป็นโครงสร้างการปกครองที่อาจขัดแย้งกับการปกครองท้องถิ่นในระดับจังหวัดได้ ขาดความร่วมมือจากข้าราชการประจำในระดับต่างๆ บุคลากรด้านสาธารณสุขส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจข้อเสนอ ต้องมีกรอบแนวคิดชัดเจน ดังนี้ 1) การให้อำนาจในการตัดสินใจแก่ท้องถิ่น 2) ประสิทธิภาพและเอกภาพเชิงระบบ 3) ความเป็นธรรมทางสุขภาพ 4) ธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ 5) การมีส่วนร่วมและการตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน และ 6)การจัดความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทไปเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน ผู้กำกับดูแลและเสนอแนะ รวมทั้งให้การสนับสนุนและบริการทางวิชาการแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานีอนามัยในสังกัดอปท. ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดบริการสาธารณะแก่ประชาชนในพื้นที่โดยตรง ต้องกำหนดรูปแบบระบบบริการสาธารณสุขที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ การดำเนินการต้องไม่ทำในรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศและถ่ายโอนตามความพร้อม กำหนดบทบาทองค์กรต่างๆ ให้ชัดเจน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถดำเนินการได้ในหลายระดับ เช่น 1) การสนับสนุนการจัดบริการ 2) การจัดระบบบริการเอง และ 3) การซื้อบริการจากหน่วยบริการ ควรมีการจัดตั้งกลไกการบริหารระบบสาธารณสุขแบบมีส่วนร่วมจากพหุภาคี ที่มีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยบริการและภาคประชาชน ต้องพัฒนาศักยภาพและสร้างความพร้อมแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขให้สามารถสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ปรับปรุงระเบียบกฎหมาย ถ่ายโอนสถานบริการพร้อมประเมินผลควบคู่ไปด้วย ในการกำกับติดตามและประเมินผล ต้องยึดเอาวัตถุประสงค์ของการกระจายอำนาจ เรื่องความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ มีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มาตรฐานและประชาชนมีความ พึงพอใจสำหรับการศึกษาวิจัย มีประเด็นที่ควรดำเนินการ คือ ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ รูปแบบและต้นทุน ผลกระทบและปัจจัยที่มีผลต่อการบริการสุขภาพ การมีส่วนร่วม บทบาทและความสัมพันธ์ขององค์กรในระบบสุขภาพภายใต้บริบทการกระจายอำนาจ ศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพ ด้านระเบียบกฎหมาย การบริหารจัดการ ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในการจัดบริการสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพและด้านบริหารจัดการระบบสุขภาพ