บทคัดย่อ
บทความนี้นำเสนอสถานการณ์การวิจัยสมุนไพรโดยสะท้อนจากผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวาสารวิชาการทั้งในและต่างประเทศในช่วงปี พ.ศ. 2543-2547 ในจำนวนงานวิจัยที่รวบรวมได้ 395 เรื่อง มี 223 เรื่องที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในฐานข้อมูลนานาชาติ ภาพรวมของงานวิจัยไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ชนิดสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ใดอย่างชัดเจน การวิจัยและพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ตำรับยาหอม และการวิจัยองค์ความรู้หมอเมือง เป็นตัวอย่างของความพยายามเชื่อมโยงภูมิปัญญาสู่การใช้ประโยชน์ สำหรับกรณีศึกษาแนวทางในการพัฒนายาสมุนไพรอายุรเวทของอินเดีย ยาสมุนไพรจีน และตำรับยาคัมโปของญี่ปุ่นนั้น มีแนวทางการวิจัยที่วางอยู่บนรากฐานของทฤษฎีการแพทย์ของตนเองนั่นคือใช้ยาในรูปแบบตำรับยาซึ่งออกฤทธิ์แบบองค์รวม ใช้การควบคุมคุณภาพทางเคมีเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ มีการพัฒนาตำรับยาเตรียมในรูปแบบที่เหมาะสม แต่ยังคงยึดแนวทางตามกรรมวิธีดั้งเดิมไว้ และมีการประยุกต์ใช้แนวคิดตามทฤษฎีแพทย์แผนตะวันออกในการทดลองทางคลินิกเพื่อใช้ในการทดสอบประสิทธิผล ประเทศไทยควรมีหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับบทบาทของสมุนไพร การแพทย์แผนไทย และการแพทย์พื้นบ้านให้ชัดเจน หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยต้องกำหนดทิศทางการให้ทุนวิจัยที่ชัดเจนเพื่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ สอดคล้องและทันกับการปรับเปลี่ยนของบริบททางสังคม ควรส่งเสริมให้มีการให้ทุนวิจัยกับนักวิจัยที่มีศักยภาพเพื่อจัดตั้งหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศ จัดตั้งสถาบันวิจัยระดับชาติที่มีเป้าหมายเพื่อวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้บนรากฐานของภูมิปัญญาโดยเฉพาะ ควรมีการวิจัยเพื่อรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์องค์ความรู้ของระบบการแพทย์ไทยต่างๆ ให้เป็นระบบ นอกจากนี้การวิจัยสมุนไพรตำรับบนพื้นฐานภูมิปัญญาไทยอาจเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ภูมิปัญญาที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาของประเทศ ควรมีหน่วยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการวิจัย ให้คำปรึกษาแก่นักวิจัยในการจดสิทธิบัตรทั้งในและต่างประเทศ และเชื่อมโยงผลการวิจัยสู่การพัฒนาเชิงอุตสาหกรรม การให้การศึกษาและการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพโดยใช้ภูมิปัญญาต่อบุคลากรสาธารณสุขและประชาชน จะช่วยให้เจตคติของคนไทยต่อสมุนไพรเป็นไปในทิศทางที่เอื้อต่อระบบสุขภาพและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมากขึ้น เมื่อมีการนำสมุนไพร การแพทย์แผนไทย และการแพทย์พื้นบ้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในปัจจุบัน นั่นเองคือการจัดการความรู้ที่เกิดประโยชน์ซึ่งนำมาสู่การอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไทที่ดีที่สุด แต่การที่จะทำให้สมุนไพร การแพทย์แผนไทย และการแพทย์พื้นบ้านกลับมามีพื้นที่ทางสังคมอีกครั้งหนึ่ง คงต้องใช้วิธีการสื่อสารที่หลากหลายที่จะทำให้ทุกคนในแต่ละภาคส่วนของสังคมเข้าใจได้ บทความนี้เสนอให้เห็นว่าการวิจัยสามารถใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสื่อสารนั้น ความร่วมมือระหว่างสาขาวิชาระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์จะนำมาสู่การประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม