บทคัดย่อ
ภาคตะวันออกเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอย่างชัดเจนมากที่สุดภาคหนึ่งของประเทศไทย กว่าสองทศวรรษของการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกไปอย่างชัดเจน วิถีชีวิตของสังคมอุตสาหกรรมและสังคมเมืองได้เข้ามาแทนที่สังคมเกษตรกรรมและ
สังคมชนบทอย่างรวดเร็ว ฐานทรัพยากรซึ่งเป็นปัจจัยสําคัญสําหรับการพัฒนาตามแนวทางเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากว่า 4 ทศวรรษ ก็เสื่อมโทรมลงอย่างมาก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ความเสี่ยงในชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกมีมากขึ้นไม่แพ้กับโอกาสทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าความเสี่ยงที่มาจากมลพิษ อุบัติภัย ปัญหาทางสังคม หรือความล้มเหลวทางธุรกิจ เอกสารเล่มนี้เป็นการรวบรวม “ส่วนหนึ่ง” ของ “แผนที่ความคิด” ที่คนภาคตะวันออกร่วมกัน
พัฒนาขึ้นมาจากจุดเล็กๆ สู่ชุมชน สู่เครือข่ายในจังหวัด สู่เครือข่ายระดับภาค และจากฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ไปสู่ฐานความรู้และภูมิปัญญาของคนภาคตะวันออก ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และการเตรียมพร้อมสําหรับอนาคต ความมุ่งหวังของเอกสารนี้คือ 1. การนําเสนอให้เห็นถึงศักยภาพของคนภาคตะวันออกในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างมิเคยย่อท้อ แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมิได้เกิดมาจากการตัดสินใจและความรับผิดชอบของตนก็ตาม แต่เมื่อความเปลี่ยนแปลงและผันผวนเหล่านี้กระทบต่อชีวิตของตนเอง และลูกหลาน คนภาคตะวันออกทั้งหลายเหล่านี้ไม่เคยนิ่งเฉยและได้สร้างแผนที่ความคิดส่วนหนึ่งขึ้นมา 2. การกระตุ้นให้เกิดการเติมเต็มแผนที่ความคิดที่นําเสนอในเล่มนี้ โดยกระบวนการต่างๆ ของภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชาวภาคตะวันออกได้แผนที่ความคิดที่สมบูรณ์ และสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้อย่างเท่าทันและทันท่วงที แผนที่ความคิดส่วนหนึ่งที่นําเสนอในเอกสารเล่มนี้ถูกเรียกขานในนาม “ยุทธศาสตร์ภาคประชาชน” สําหรับ “ภาคตะวันออก” ซึ่งหมายถึง ทิศทางและแนวการดําเนินการสําคัญที่ภาคประชาชนร่วมกันกําหนดเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง และการพัฒนาภาคตะวันออกโดยภาพรวม โดยแบ่งออกเป็นยุทธศาสตร์ 5 ด้านได้แก่ ยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ ยุทธศาสตร์สื่อสาธารณะ ยุทธศาสตร์สวัสดิการชุมชน และยุทธศาสตร์การศึกษา ทั้งนี้การนําเสนอยุทธศาสตร์แต่ละยุทธศาสตร์ จะได้นําเสนอประเด็นปัญหา แนวทางและประสบการณ์การแก้ไขปัญหา ความสําเร็จและความล้มเหลวที่เกิดขึ้น กรณีศึกษาต่างๆ ภาพรวมของแนวทางการพัฒนาที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ของภาคประชาชน ตลอดจนการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายของชาวภาคตะวันออกในปัจจุบัน