บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นต่อประเด็นสุขภาพ ระบบสุขภาพและพลวัตรทางการเมืองและสังคมเมืองและสังคมใน 8 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อกำหนดกรอบทิศทางการวิจัยสุขภาพที่ตอบสนองต่อพลวัตรระบบสุขภาพภาคเหนือ รวมทั้งการประสานให้เกิดความร่วมมือที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาการปรับเปลี่ยนและการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีขั้นตอนในการดำเนินงานเพื่อสร้างให้เกิดกระบวนการสร้างแนวร่วมการทำงานคือ ขั้นตอนที่ 1 จัดประชุมทีมผู้ดำเนินการจัดกระบวนการกับกลุ่มนักวิชาการที่ศึกษาวิจัยประเด็นสุขภาพที่ตอบสนองต่อพลวัตรระบบสุขภาพภาคเหนือใน 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือ สถานการณ์การปรับตัว พื้นที่การดูแลจัดการด้านสุขภาพ ศักยภาพและแนวโน้นอนาคตของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ ที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสุขภาพของชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในภาคเหนือ ประเด็นที่สองคือสถานการณ์ด้านนโยบาย การบริหารงาน ศักยภาพของโครงสร้างหลักที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ หลังจากประชุมประเด็นหลักทั้ง 2 ประเด็นแล้ว ทำให้ทราบข้อมูลสำคัญของระบบสุขภาพในสังคมภาคเหนือได้ชัดเจนขึ้น ทำให้สามารถกำหนดภาคี/ผู้เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพได้ 3 กลุ่ม อันประกอบด้วย กลุ่มนักวิชาการและนักวิจัย กลุ่มผู้รับผิดชอบในการจัดการดูแลสุขภาพ และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขั้นตอนที่ 2 เป็นการจัดกระบวนการเสวนากลุ่ม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพทั้ง 3 กลุ่ม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาสุขภาพ เพื่อสะท้อนทิศทางการวิจัยที่ตอบสนองต่อพลวัตรระบบสุขภาพภาคเหนือ รวมทั้งการหาแนวทางในการประสานความร่วมมือกับภาคีภาคส่วนต่างๆ โดยแบ่งหัวข้อการเสวนาออกเป็น 3 หัวข้อคือ 1. สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของภาคเหนือที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ 2. สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย การบริหารและโครงสร้างการบริหารขององค์กรปกครองระดับภูมิภาคและท้องถิ่นในภาคเหนือตอนบน 3. สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ผลการเสวนาพบว่า ข้อคิดที่ควรคำนึงในการวิจัยระบบสุขภาพในภาคเหนือมี 9 ประเด็น ได้แก่ 1. ความต่อเนื่องของการทำวิจัยในแต่ละพื้นที่ 2. ความแตกต่างในพื้นที่ 3.การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น 4. การวิจัยที่เป็นสหสาขา 5. การวิจัยเชิงระบบที่ครอบคลุมทุกมิติ ทุกระดับของระบบสุขภาพ 6. ความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างอำนาจ 7. การวิจัยเพื่อแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาสุขภาพ 8. การจัดทำชุดโครงการวิจัย 9. การวิจัยเกี่ยวกับความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ไข้หวัดนก ส่วนข้อคิดประเด็นสุขภาพพบว่า ทุกภาคส่วนควรให้ความร่วมมือเรื่องการพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดระบบสุขภาพในอนาคต