บทคัดย่อ
การมีส่วนร่วมของคนงานในการพัฒนาคุณภาพบริการของสถานพยาบาลประกันสังคม โครงสร้างการบริหารงานกองทุนประกันสังคมจะเป็นระบบไตรภาคีประกอบด้วยผู้แทน ฝ่ายลูกจ้างฝ่ายนายจ้างและรัฐบาลในรูปของคณะกรรมการการประกันสังคม ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทดแทน ต่าง ๆ รวมทั้งมาตรฐานสถานพยาบาลและกฏเกณฑ์คุณภาพการบริการในโครงการประกันสังคมที่คณะกรรมการการแพทย์ จะเป็นผู้ศึกษารวบรวมข้อมูลให้พิจารณาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลหลายแห่งในโครงการประกันสังคมได้รับการร้องเรียน วิพากษ์วิจารณ์จากผู้ประกันตนเสมอมา โดยมีสาเหตุปัจจัยเกี่ยวขัองกับบุคคลและกลไกสำคัญอย่างน้อย 4 ฝ่ายคือ ลูกจ้างผู้ประกันตน ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภค บริการทางการแพทย์ และผู้แทนลูกจ้าง-องค์แรงงานที่มีบทบาทคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของสมาชิกคนงาน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งในระดับผู้บริหารโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการในสถานพยาบาลแต่ละแห่ง สำนักงานประกันสังคมซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการรับรองและตรวจสอบคุณภาพของสถานพยาบาล และการรักษาพยาบาล และให้มีคำแนะนำช่วยเหลือแก่ผู้ประกันตน นายจ้าง/ฝ่ายจัดการ ซึ่งมีบทบาทร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคมเกี่ยวกับการจัดส่งข้อมูล ผู้ประกันตนและการดำเนินงานให้ลูกจ้างเลือกใช้สถานพยาบาล ฝ่ายลูกจ้าง นั้นประสบอุปสรรคและข้อจำกัดหลายประการ เช่น การเผชิญกันคุณภาพการรักษาพยาบาลและบริการของโรงพยาบาลที่ไม่เป็นตามความคาดหวัง ความเข้าใจส่วนตน การไม่มีโอกาสรับรู้ข้อมูลที่ใช้ตัดสินใจกำหนดสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ คนงานจำนวนมากไม่มีโอกาสได้รับบริการทางการแพทย์อย่างเท่าเทียมกับ บุคคลที่อยู่นอกโครงการประกันสังคม เป็นต้น คนจำนวนมากยังไม่มีสิทธิเลือกสถานพยาบาลด้วยตนเองอย่างแท้จริง เพราะสาเหตุหลายอย่าง เช่น ความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของสำนักงานประกันสังคมที่ไม่สามารถ ส่งข้อมูลสถานพยาบาลให้ผู้ประกันตนโดยตรงทั้งหมด หรือฝ่ายบุคคลของบริษัทไม่ส่งแบบเลือกสถานพยาบาลและรายชื่อโรงพยาบาลให้ผู้ประกันตนได้มีโอกาสคัดเลือกอย่างรวดเร็วถูกต้องตามระยะเวลาที่กำหนดหรือคนงานขาดความพร้อมและไม่มีข้อมูลเพียงพอในการพิจารณา เลือกสถานพยาบาลด้วยตนเอง เป็นต้น แม้ว่าจะมีผู้แทนฝ่ายลูกจ้างอยู่ในคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการอุทธรณ์ และอนุกรรมการประกันสังคมจังหวัด แต่ลูกจ้างส่วนใหญ่ไม่รู้จักผู้แทนเหล่านั้น องค์กรแรงงานส่วนใหญ่ยังไม่มีสิทธิคัดเลือกผู้แทนของตนเองอย่างแท้จริงให้ เข้าร่วมการบริหารงานประกันสังคม บทบาทขององค์แรงงานในระดับต่าง ๆ ต่อการมีส่วนร่วมตรวจสอบและปรับปรุงคุณภาพการบริการของสถานพยาบาลประกันสังคมยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบจริงจัง เพราะมีภารกิจเฉพาะหน้าในการต่อรองเพื่อแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ รายได้ต่ำเป็นประจำ ตลอดจนขาดการรวมตัว ร่วมมืออย่างกว้างขวางเพื่อวางแผนจัดสร้างกลไก กระบวนการติดตาม ตรวจสอบ และนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาคุณภาพบริการอย่างมีประสิทธิภาพ