บทคัดย่อ
การประเมินความยั่งยืนของกระบวนการสื่อสารทางสุขภาพเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายงานวิจัยนี้เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ดำเนินการ คือ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษหลังจากโครงการส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีวิตามินเอสูง(ในช่วงปี 2531-2534 โดยสถาบันวิจัยโภชนาการ) โดยประเมินจากการบริโภคอาหารที่มีวิตามินเอสูง ระดับความรู้ ทัศนคติและพฤติกรรม และปัจจัยที่เอื้อ/ไม่เอื้อต่อความยั่งยืนของการเปลี่ยนแปลงที่ประสงค์ โดยอาศัยวิธีการทางด้านโภชนาการและด้านสังคมศาสตร์ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ประกอบกัน ผลของการวิจัยพบว่า กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ดำเนินการของโครงการฯ ยังคงมีการพัฒนาการของการบริโภคอาหารที่มีวิตามินเอสูงอีกทั้งไขมัน ต่อเนื่องหลังจากโครงการสิ้นสุดลงไปแล้วเป็นเวลา 4 ปี โดยยังคงมีระดับความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมดีขึ้น หรือไม่แตกต่าง การพัฒนาในทางที่พึงประสงค์นี้คาดว่าเกิดจากยุทธศาสตร์ของโครงการฯ ซึ่งนำเสนอเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงที่กลุ่มเป้าหมายเชื่อว่าสามารถทำได้ และมีทรัพยากรที่จำเป็นในการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งการดำเนินการในช่วงโครงการมีผลต่อกลุ่มเป้าหมายส่วนหนึ่ง ซึ่งมีพฤติกรรมต่อเนื่องถือเป็นตัวอย่างให้เห็นอยู่ในชุมชน และคาดว่ามีผลต่อการเพิ่มขึ้นของทั้ง Demand/Supply ของอาหารที่มีวิตามินเอสูงในพื้นที่นี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นความเข้มแข็งของระบบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลัง การดำเนินโครงการ และพบว่ามีความอ่อนแอในระบบนี้ ซึ่งอาจเป็นผลต่อศักยภาพความยั่งยืนของโครงการที่สำคัญคือ ความเชื่อมโยงที่จะก่อให้เกิดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานของรัฐ ในพื้นที่และชุมชนยังไม่ดีพออีกทั้งยังมีจุดอ่อนในการทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของในการเปลี่ยนแปลง การศึกษานี้ผู้วิจัยได้เสนอให้มีการดำเนินการเพิ่มเติมในพื้นที่ดังกล่าวโดย เน้นการลดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งของระบบได้แก่ การเสริมการดำเนินงานในองค์กรชุมชน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนในการเปลี่ยนแปลง และหารูปแบบของการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐตามที่เหมาะสม