บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนประสิทธิภาพ และธรรมาภิบาลระดับอบต. โดยเน้นเรื่อง การเรียนรู้ร่วมกับท้องถิ่น และได้ประสานกับจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่นำร่อง และมีโครงการที่จะขยายขอบเขตการวิจัยเชิงปฏิบัติการระยะที่สองร่วมกับอีก 3 จังหวัด คือ กำแพงเพชร สุโขทัย และอุตรดิตถ์ รวมกับพื้นที่เดิมเป็น 6 จังหวัด โดยประสานกับ อบต. เข้าร่วมโครงการจังหวัดละ 10 แห่ง รวมเป็น 60 แห่ง โครงการนำร่องระยะที่หนึ่งนี้ยึดหลัก การเรียนรู้ร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่าง สถาบันการศึกษา กับ อบต. ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ และ ประชาคม ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ มีกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดเวทีสนทนา 3 ฝ่าย จัดสัมมนา จัดทำกรณีศึกษา การจัดระบบข้อมูลและบัญชี และการเยี่ยมเยียน อบต.เป็นครั้งคราว เพื่อทราบข้อมูล ปัญหาและอุปสรรค และให้คำแนะนำในการพัฒนาฐานข้อมูล / เครื่องมือชี้วัด รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาคมในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจการของ อบต. เช่น การเสนอความคิดเห็น และการตรวจสอบการทำงานของ อบต. เป็นต้น เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิด การเรียนรู้ร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ไม่ใช่เป็นการสอนหรืออบรมที่ได้จากสถาบันการศึกษาเพียงฝ่ายเดียวการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีบทบาทในการเข้าไปร่วมในการวางแผนติดตามการทำงานของอบต.ในทุกๆ ด้าน จะทำให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารงาน นอกจากนี้ การที่ อบต.จำนวนหลายพันหน่วยเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และส่วนใหญ่มีขีดจำกัดด้านบุคลากร เงินทุน ข้อมูล และความรู้ การปรับปรุงให้อบต.เข้มแข็ง ทำงานแบบยุทธศาสตร์เชิงรุกจึงเป็นภารกิจอันหนัก การเรียนรู้ควบคู่การทำงาน (learning by doing) และ การทำงานเป็นทีม เป็นแนวทางที่จะเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำงานของอบต.แม้ว่าจะมี จุดอ่อน คือ อบต.บางแห่งอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพเศรษฐกิจยากจน ทำให้การจัดเก็บรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จนบางครั้งมีการเสนอแนะให้มีการยุบรวมอบต.บางแห่งที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ไปรวมกับเทศบาล การทำงานของอบต.หลายแห่งเป็นแบบผูกขาดไม่แข่งขันกัน บางครั้งมีการขัดแย้งในการทำงานระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นกับข้าราชการประจำ การกำกับพนักงานถูกควบคุมจากส่วนกลางแทนที่จะเป็นจากอบต.เอง แต่ก็ยังมีข้อดีหรือจุดแข็ง คือ อบต. เป็นองค์กรขนาดเล็ก ที่มีการทำงานเป็นอิสระ ใกล้ชิดกับประชาชน และสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว การวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ได้ดำเนินการตามเป้าหมายของโครงการ นั่นคือ การเรียนรู้ร่วมกันกับท้องถิ่น เพื่อให้ทราบถึงสภาพปัญหาที่แท้จริง และปรับปรุงระบบการทำงานของ อบต. ให้ดีขึ้น โดยทีมงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือด้านวิชาการให้แก่ท้องถิ่น และในขณะเดียวกันคณะอาจารย์ที่เป็นทีมวิจัยก็ได้ความรู้จากประสบการณ์ตรงจากการสัมผัสกับสถานการณ์ที่เป็นจริง โดยหวังว่าความรู้ที่เกิดจากโครงการ อาจเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง “องค์ความรู้ระดับท้องถิ่นของไทย” และจะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพ และธรรมาภิบาลในระดับ อบต. ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ