บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอสภาวะสุขภาพและแนวโน้มประชากรสูงอายุไทยและแสดงภาพลักษณ์ของประชากรสูงอายุในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อประกอบการเสนอแนะระบบสวัสดิการและบริการที่เหมาะสมในช่วงเวลาดังกล่าว วีธีการศึกษาส่วนแรกเป็นการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องครอบคลุมการศึกษาเกี่ยวกับผู้สูงอายุในมิติสถานะสุขภาพ และการสังเคราะห์ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญถึงภาพลักษณ์ของประชากรสูงอายุไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ผลการศึกษาพบว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ส่วนใหญ่จะอยู่ช่วง 60-70 ปี หลังจากนั้นจะลดลงอย่างรวดเร็วทั้งสองเพศและเหลือน้อยที่สุดในกลุ่มอายุสูงสุด การเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชากรสูงอายุในอนาคต 10-20 ปีข้างหน้า พบว่าด้านสถานภาพสมรส มากกว่าร้อยละ 90 เคยสมรสมาแล้ว ร้อยละ 2 ที่ยังโสด โดยผู้หญิงครองความเป็นโสดมากกว่าชาย ด้านการศึกษาปัจจุบันมีผู้สูงอายุร้อยละ 30 ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้และเป็นหญิงมากกว่าชาย ในอนาคตมีแนวโน้มมีระดับการศึกษาสูงขึ้น ด้านจำนวนบุตรจะลดลงเพื่อเพิ่มคุณภาพบุตรให้มากขึ้น ด้านการย้ายถิ่นในผู้สูงอายุจะมีน้อยกว่าผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว เป้าหมายหลักของการพัฒนาสุขภาพประชากรคือ การมีชีวิตยืนยาว แม้จะมีโรคเรื้อรังหรือพิการก็ควรมีชีวิตอย่างอิสระและเสียชีวิตเมื่ออายุคาดเฉลี่ย (ประมาณ 85 ปี) ภาวะสุขภาพของประชากรสูงอายุประกอบไปด้วย การประเมินสุขภาพตนเอง การเกิดโรคเฉียบพลันและอุบัตเหตุ โรคเรื้อรัง สภาพจิตผิดปกติ การตาย ผู้สูงอายุเกิน 75 ปี ที่เสียชีวิตด้วยภาวะชราภาพ อายุคาดหวังทางสุขภาพของประชากรสูงอายุ อายุคาดหวังที่ยังดูแลตนเอง (ALE) จะสูงกว่าอายุคาดหวังที่ปราศจากภาวะทุพพลภาพระยะยาว (LDFLE)พฤติกรรมสุขภาพ ในเรื่องอาหารและโภชนาการ การบริโภคอาหารที่เหมาะสมคือวันละ 3 มื้อและได้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ และให้มีอาหารหลากหลายประมาณ 30 ชนิดต่อวัน การพักผ่อน ผู้สูงอายุจะต้องการพักผ่อนมากขึ้น โดยจะนอนหลับ 5-8 ชั่วโมง การออกกำลังกาย ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันร้อยละ 40.3 ในชนบทออกกำลังกายมากกว่าในเมือง หรือมีกิจกรรมเดินเล่นเป็นประจำ 8) สภาพแวดล้อมทางกายภาพ ที่อยู่อาศัยจะเป็นสถานที่ที่ผู้สุงอายุดำเนินชีวิตเป็นส่วนใหญ่ แบบของบ้านจะไม่แตกต่างกันมากระหว่างกลุ่มคนที่มีอายุหรือเพศต่างกัน แต่มีความแตกต่างกันระหว่างเมืองและชนบทคือผู้สูงอายุในชนบทส่วนใหญ่อยู่ในเพิงพักชั่วคราว กระท่อมและบ้านไทยยกพื้น ในเมืองมักอาศัยในบ้านตึกแถว9) สภาพแวดล้อมทางสังคม ผู้สูงอายุร้อยละ 98 อาศัยอยู่กับครอบครัว ร้อยละ 71 อยู่บ้านเดียวกับบุตร ร้อยละ 4 อยู่ลำพังคนเดียวที่เหลืออยู่กับคู่สมรสหรือญาติพี่น้องอื่นๆ การเยี่ยมเยียนจากบุตร/หลาน/พี่น้องหรือญาติที่แม้ไม่ได้อยู่ด้วยกันมีสัดส่วนสูง เกี่ยวกับนโยบายและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุเห็นว่า บริการด้านสังคมและสุขภาพที่รัฐจัดสรรให้ที่ผ่านมายังไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานและไม่ครอบคลุมกลุ่มอายุในพื้นที่ต่างๆอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน