บทคัดย่อ
งานวิจัยถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งในการที่จะช่วยแสวงหาหนทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสภาวะการณ์ที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง สำหรับประเทศไทย มีข้อจำกัดในการส่งเสริมการวิจัยในด้านต่างๆ ทั้งปริมาณและงบประมาณ รวมไปถึงขาดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ความสอดคล้องและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ การศึกษาในครั้งนี้เป็นความพยายามที่จะเข้าใจบทบาทขององค์กรต่างๆ ที่มีบทบาทสนับสนุนทุนวิจัยสุขภาพ เพื่อให้เห็นภาพของระบบการจัดสรรทรัพยากรวิจัยสุขภาพในภาพรวม และศึกษาความเป็นไปได้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรเหล่านี้ในการพัฒนายุทธศาสตร์งานวิจัยสุขภาพของประเทศไทยต่อไป โดยหน่วยงานที่ศึกษาประกอบด้วย คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย และองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ซึ่งคณะทำงานศึกษาฯ ได้รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารและผู้มีบทบาทในการตัดสินใจอนุมัติงบประมาณวิจัยสุขภาพ และทบทวนเอกสารบัญชีรายจ่ายเพื่อสนับสนุนงานวิจัยสุขภาพย้อนหลัง อย่างน้อย 5 ปีหรือย้อนหลังมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และบันทึกในแบบบันทึกข้อมูลที่คณะทำงานฯ กำหนดผลการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ รูปแบบการตัดสินใจ และการวิเคราะห์งบประมาณสนับสนุนงานวิจัยด้านสุขภาพขององค์กรที่ศึกษาข้างต้นในฐานะแหล่งให้ทุนเพื่อการศึกษาวิจัยสุขภาพ ซึ่งบางแหล่งทุนมีฐานะทั้งเป็นหน่วยงานทำวิจัยเอง และทำหน้าที่เป็นตัวกลางบริหารจัดการทุนให้เกิดงานวิจัยอีกต่อหนึ่ง รูปแบบการตัดสินใจขององค์กรที่ศึกษา มี 4 รูปแบบได้แก่ (1) องค์กรให้อิสระให้นักวิจัยเสนอหัวข้อ ได้โดยไม่ได้กำหนดกรอบล่วงหน้า และนำโครงการที่เสนอมาพิจารณาจัดสรรทุน (2) องค์กรกำหนดกลุ่มประเด็นสำคัญหรือกรอบโครงการกว้างๆ ที่จะให้การสนับสนุน แล้วประกาศให้นักวิจัยนำเสนอโครงการที่สอดคล้องกับกลุ่มประเด็นหรือกรอบโครงการแล้วจึงพิจารณาอนุมัติ (3) องค์กรกำหนดประเด็นวิจัยและหานักวิจัยมาดำเนินการในโครงการวิจัยที่กำหนด และ (4) ใช้รูปแบบผสมผสาน โดยมีกรอบกว้าง ๆ แต่ยังเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้เสนอโครงการที่มีความน่าสนใจสูงแต่ไม่ได้อยู่ในกรอบโครงการเข้ารับพิจารณาโดยตรงได้ด้วย ในส่วนของการกำหนดยุทธศาสตร์งานวิจัยของแต่ละองค์กร พบว่าองค์กรแหล่งทุนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่เป็นองค์กรสนับสนุนจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์งานวิจัยขององค์กรเป็นหลัก ก่อนจะมีการกำหนดกรอบหรือกลุ่มโครงการที่สำคัญเป็นหลักในการให้การสนับสนุน ในส่วนขององค์กรที่ไม่ได้มีงานวิจัยเป็นภารกิจหลัก การกำหนดประเด็นวิจัยจะอ้างอิงแผนยุทธศาสตร์และพันธกิจขององค์กรเป็นหลัก หรืออาจกำหนดให้หัวหน้าส่วนย่อยขององค์กรเป็นผู้กำหนดประเด็นวิจัยเอง โดยไม่ได้มีแผนงานวิจัยหลักของทั้งองค์กรเป็นแนวทาง และการจัดลำดับความสำคัญส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรหรือแผนวิจัยขององค์กร (ถ้ามี) โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุชัดเจน เป็นเพียงหลักการคร่าวๆ และเน้นที่ในส่วนการกำหนดชุดหรือกลุ่มโครงการ ไม่ได้หลักการจัดลำดับความสำคัญของงานวิจัยแต่ละชิ้น ผลของการศึกษาปริมาณเงินสนับสนุนวิจัยสุขภาพ ทำให้เห็นได้ว่าชนิดของงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนค่อนข้างหลากหลายยกเว้นแต่ในส่วนของงานวิจัยคลินิกที่ยังได้รับการสนับสนุนค่อนข้างน้อย และหากพิจารณาความสอดคล้องกับโรคที่มีภาระโรคสูงในประเทศไทยพบว่า องค์กรที่ปฏิบัติงานสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพหรือองค์กรที่มีงานวิจัยสุขภาพเป็นหลักให้ทุนสนับสนุนที่สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพและภาระโรคในปัจจุบันมากกว่า เช่น โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ไข้หวัดนก ซึ่งพิจารณาเชิงปริมาณในภาพรวมตลอดทั้ง 5 ปี หากคำนวณเชิงปริมาณ พบว่าประเทศไทยยังคงลงทุนด้านการวิจัยน้อยกว่าที่ควรหลายเท่าและรวมถึงมีความไม่แน่นอนสูง ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้คือ รัฐควรให้ความสำคัญกับงานวิจัยด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น โดย การกำหนดให้สุขภาพเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหลักในการกำหนดแผนพัฒนาประเทศ การให้ความสำคัญกับงานวิจัยในฐานะเครื่องมือที่จะนำไปสู่การพัฒนาสุขภาพและสังคม การเสริมสร้างความสามารถและสมรรถนะของนักวิจัยและสถาบันวิจัยเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาในสังคม และ การส่งเสริมให้นักวิจัยทั้งในและนอกประเทศได้มีโอกาสประสานงานหรือทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาทางสุขภาพ ในประเด็นของความไม่สม่ำเสมอของการสนับสนุนวิจัย คือควรส่งเสริมให้องค์กรทุนร่วมกันวางแผนและกำหนดบทบาทขององค์กรในการให้น้ำหนักในการสนับสนุนทุนให้สอดคล้องและสม่ำเสมอ และสร้างระบบข้อมูลสารสนเทศงานวิจัยที่สามารถตรวจสอบและใช้ข้อมูลเพื่อการวางแผนได้อย่างเป็นระบบ