บทคัดย่อ
ปี พ.ศ. 2544 รัฐบาลได้ประกาศนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษาเรื่องความเหมาะสมและบทบาทของทันตกรรมภาคเอกชนในการร่วมจัดบริการกับภาครัฐในประเทศไทย การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาความเป็นไปได้และรูปแบบการจัดบริการทันตกรรมร่วมรัฐ-เอกชน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทันตสาธารณสุขตามนโยบายจากทุกภาคบริการ การวิจัยนี้ดำเนินการโดยการสำรวจที่ใช้แบบสอบถามทางไปรษณีย์ เก็บข้อมูลจากทันตแพทย์ที่เป็นสมาชิกทันตแพทยสมาคมฯทั้งสิ้น 4,700 ชุด (ร้อยละ 12.9) มีข้อมูลสมบูรณ์ใช้วิเคราะห์ 544 ชุด (ร้อยละ 11.58) นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลในเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์กลุ่มแบบ focus groups รวม 9 ครั้ง 46 คน กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ทันตแพทย์หัวหน้างานทันตสาธารณสุขประจำจังหวัด ทันตแพทย์ภาคเอกชน โดยการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ในพื้นที่ 6 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สระบุรี จันทบุรี และตรัง และสัมภาษณ์ผู้บริหารสาธารณสุข 2 คน คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการชุดสิทธิประโยชน์ตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผลการศึกษาพบว่า ทันตแพทย์ภาคเอกชนมีความพร้อมในการจัดบริการทันตกรรมร่วมรัฐ-เอกชน โดยปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ค่าตอบแทน เงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทน และรูปแบบการตรวจสอบ ผู้บริหารสาธารณสุขเห็นว่า การจัดบริการทันตกรรมร่วมรัฐ-เอกชน มีความเป็นไปได้ แต่ต้องการความชัดเจนในประเด็น การแยกงบประมาณทันตกรรมออกจากงบประมาณรักษาพยาบาล ค่าบริการทันตกรรมเฉลี่ยต่อครั้ง และกฎเกณฑ์ในการตรวจสอบคุณภาพการบริการ การศึกษาครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การจัดบริการทันตกรรมร่วมรัฐ-เอกชนต่อไป