บทคัดย่อ
การศึกษาเพื่อหารูปแบบการจัดระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ กรณีศึกษาภาคเหนือนี้ ได้ใช้แบบวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยเน้นการมีส่วนร่วม (participatory action research) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ สถานการณ์ด้านสุขภาพและระบาดวิทยาในภาคเหนือ ความต้องการทางด้านสุขภาพของประชาชน ความคิดเห็นของผู้นำชุมชนและบุคลากรทางด้านสุขภาพต่อระบบบริการสุขภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งทัศนะของผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องระบบสุขภาพระดับปฐมภูมิ วิธีการศึกษาประกอบด้วยการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง การศึกษาทางระบาดวิทยา การสำรวจ การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เจาะลึกและการนำเสนอข้อมูลเพื่อสะท้อนความคิดเห็นจากผู้นำชุมชนและบุคลากรสาธารณสุข การศึกษาครั้งนี้เลือกศึกษาชุมชน 6 ชุมชนที่ตั้งในภาคเหนือของประเทศไทย ชุมชนได้มาอย่างเจาะจงเพื่อเป็นตัวแทนของวิถีชีวิตแบบต่างๆ ของประชาชนในภาคเหนือ โดยเป็นชุมชนในเมืองและชนบทที่มีการเดินทางสะดวกและมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่ผู้วิจัยปฏิบัติงาน จากผลการศึกษาดังกล่าว คณะผู้วิจัยได้พิจารณารูปแบบการให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิโดยพยาบาลวิชาชีพที่มุ่งเน้นการจัดบริการให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นและมีข้อเสนอแนะรูปแบบการให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิดังนี้ 1. พัฒนาความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพเดิม โดยจัดให้มีพยาบาลวิชาชีพประจำสถานบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ 2. มีระบบบริหารจัดการด้านบุคลากรให้เหมาะสม ทั้งทางด้านจำนวน คุณวุฒิและคุณภาพ 3. มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิให้สอดคล้องกับเป้าหมายการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี ไม่เน้นด้านการรักษาอย่างเดียว นอกจากนี้ภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และทักษะในการให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ 4. มีการเชื่อมประสานเครือข่ายความร่วมมือและการส่งต่อในการให้บริการสุขภาพทั้งในระดับปฐมภูมิและระดับเหนือขึ้นไป โดยอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แนวทางในการดำเนินงาน 1. เร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการปฏิรูประบบสุขภาพแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนทุกคน 2. จัดทำหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิตเพื่อผลิตพยาบาลวิชาชีพให้มีความรู้และทักษะสอดคล้องกับบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ 3. จัดทำหลักสูตรระยะสั้นเป็นการเร่งด่วนเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับพยาบาลวิชาชีพเพื่อให้สามารถให้บริการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิได้อย่างมีคุณภาพ 4. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ระดับอำเภอและระดับจังหวัด 5. จัดบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิโดยพยาบาลวิชาชีพที่ได้ผ่านการเตรียมความพร้อม 6. มีระบบประเมินผลการให้บริการทั้งด้านการบริหารจัดการ คุณภาพการบริการ ความพึงพอใจ ความคุ้มค่า ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นตลอดจนแนวทางแก้ไขบทบาทของพยาบาลในการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ