บทคัดย่อ
การศึกษาผลกระทบต่อบริการสุขภาพในภาวะวิกฤติ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นการศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนาและเชิงวิเคราะห์ (Descriptive and Analytic Epidemiological Study) ของผลกระทบจากภาวะวิกฤติต่อการให้บริการในสถานบริการทุกระดับของภาครัฐ ประกอบด้วยโรงพยาบาลศูนย์ 1 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 4 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 26 แห่ง และสถานีอนามัย 323 แห่ง เก็บข้อมูลจากระบบรายงานและโดยการใช้แบบสอบถาม และได้รับความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามในระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และสถานีอนามัย คิดเป็นร้อยละ 100.0, 75.0, 61.5, และร้อยละ 78.3 ตามลำดับ ผลการศึกษาพบว่า ในระดับสถานีอนามัยมีการเปลี่ยนด้านการให้บริการในภาวะวิกฤติ ร้อยละ 35.6 โดยในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และจังหวัดยะลา มีการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 59.3, 19.5 และ 43.7 ตามลำดับ ซึ่งส่งผลให้ผู้รับบริการระดับสถานีอนามัยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 17,820.1 ครั้งในปี 2546 และ 15,930.4 ครั้งในปี 2547 (Paired t test, P =0.002) นอกจากนั้น ในด้านของผู้ให้บริการพบว่า จำนวนบุคลากรเฉลี่ยต่อสถานีอนามัยในระดับสถานีอนามัยมีแนวโน้มลดลง โดยลดจากจำนวนเฉลี่ย 3.42 คน ในปี 2545 เป็น 3.26 คน ในปี 2547 สำหรับบริการด้านต่างๆ ในระดับโรงพยาบาลพบว่า บริการด้านการรักษา ด้านทันตกรรม ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และการเยี่ยมบ้าน ในการนิเทศติดตาม การสนับสนุนบุคลากรแก่เครือข่าย มีการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 25.0, 50.0, 70.0 ,60.0, 60.0 และร้อยละ 55.0 ตามลำดับ ส่งผลให้จำนวนผู้มารับบริการทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยในแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนั้น ด้านบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เช่นเดียวกันเมื่อศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนจากการป่วยด้วยโรคเรื้อรังพบว่า มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และหอบหืดเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มภาวะแปรปรวนทางจิตและพฤติกรรมเข้ารับบริการ เป็นผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (Paired t test, P> 0.05) จะเห็นได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะวิกฤติ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ ส่งผลโดยตรงต่อบริการที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด คือ บริการระดับสถานีอนามัยในขณะที่บริการในระดับโรงพยาบาลได้รับผลกระทบน้อยกว่า