บทคัดย่อ
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เป็นต้นมาเกิดการขยายพื้นที่การผลิตส้มเป็นอย่างมากทั่วทุกภาคของประเทศ รวมถึงในพื้นที่ลุ่มน้ำฝางอันประกอบด้วยพื้นที่ในเขตอําเภอฝาง อําเภอแม่อาย และอําเภอไชยปราการ จ.เชียงใหม่ จากการขยายพื้นที่ปลูกส้มเพื่อการค้าอย่างกว้างขวางในพื้นที่ลุ่มน้ำฝาง ส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่เป็นปัจจัยในการผลิตเพิ่มมากยิ่งขึ้น เช่น น้ำ สารเคมีกําจัดศัตรูพืช แต่เดิมนั้นสิ่งเหล่านี้ก็ได้ก่อให้เกิดปัญหากับชุมชนในลุ่มน้ำฝางไม่น้อย ยิ่งมีการขยายพื้นที่ปลูกส้มอย่างกว้างขวาง ยิ่งทําให้การใช้ทรัพยากรดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้แล้วเนื่องจากไม่มีมาตรการในการจัดแบ่งพื้นที่ทางการผลิตการเกษตรและพื้นที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน จึงพบว่ามีสวนส้มทั้งสวนใหญ่และสวนเล็กหลายสวนยังตั้งอยู่ติดกับพื้นที่อยู่อาศัยอีกด้วย จากการศึกษานี้แม้ว่าความเจ็บป่วยของสุขภาพในด้านร่างกายของผู้ตอบแบบสอบถามจะไม่ชัดเจน เมื่อเทียบกันระหว่างกลุ่มหมู่บ้านที่อยู่ในระยะใกล้เมื่อเทียบกับกลุ่มหมู่บ้านระยะกลางและไกลโดยอาจมีเพียงความเจ็บป่วยทางกายเพียงบางอาการที่มีความชัดเจน เช่น อาการที่เกี่ยวกับโรคผิวหนัง แต่หากพิจารณาประกอบกับสุขภาพในด้านอื่น ตามนิยามสุขภาวะที่หมายรวมถึง สุขภาพทางจิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม และจิตวิญญาณแล้ว จะพบว่ากลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในระยะใกล้สวนส้ม มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยตามนิยามสุขภาวะได้มากกว่ากลุ่มที่อาศัยอยู่ในระยะห่าง ดังนั้น การพิจารณาเพื่อประเมินผลกระทบทางสุขภาพอันเกิดจากการทําพืชเกษตรขนาดใหญ่ ในกรณีของสวนส้มนี้จะต้องมีการพิจารณาถึงความเจ็บป่วยที่นอกเหนือไปจากความเจ็บป่วยที่นอกเหนือไปจากความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น หรือสามารถวัดได้ทางกาย โดยจะต้องมีการพิจารณาถึงสุขภาพทางจิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม และจิตวิญญาณดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นด้วย