บทคัดย่อ
ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า ได้มีการจัดบริการสุขภาพในรูปแบบต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ซึ่งเป็นบริการที่อยู่ใกล้บ้าน อยู่ในชุมชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ลดการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ และให้ประชาชนมีสุขภาพดีซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ประชาชนมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อลดลง แต่กลับไปป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ ตลอดจนถึงโรคที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ระบบบริการที่มีอยู่นี้ยังไม่ครอบคลุมประชาชนทุกระดับอย่างทั่วถึง มีความไม่เท่าเทียมกัน ขาดความสมดุลในการจัดสรรบุคลากร และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนเวชภัณฑ์ที่เพียงพอและมีคุณภาพ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้จึงต้องการการปฏิรูปเพื่อให้ได้ระบบที่สามารถดูแลสุขภาพของประชาชนได้อย่างครอบคลุม มีคุณภาพ เป็นระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ เหมาะสมกับคนไทยทั้งประเทศ พยาบาลเป็นบุคลากรที่สำคัญในการทำให้การปฏิรูประบบบริการสุขภาพประสบความสำเร็จได้ส่วนหนึ่ง สภาการพยาบาลโดยการสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับพยาบาลในการบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิในชุมชน โดยทำการศึกษาในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการศึกษาในชุมชนภาคกลาง โดยได้ทำการศึกษาชุมชนเมืองกึ่งอุตสาหกรรม ชุมชนเมืองกึ่งชนบท และชุมชนชนบทเกษตรกรรม การวิจัยได้แบ่งการดำเนินการหลายขั้นตอน โดยเริ่มจากศึกษารูปแบบของการให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่มีอยู่ในปัจจุบันของภาคกลาง ต่อจากนั้นจึงเป็นการศึกษาความต้องการและความคาดหวังเกี่ยวกับบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิของชุมชนในพื้นที่ที่ศึกษาภาคกลางทั้งโดยวิธีการเชิงคุณภาพและปริมาณ การสะท้อนความคิดของชุมชนเกี่ยวกับรูปแบบของระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ การระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อสรุปหารูปแบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิและทำประชาพิจารณ์กับตัวแทนกลุ่มประชาคมสุขภาพเพื่อร่างรูปแบบที่เหมาะสมกับชุมชนภาคกลางและนำไปสู่การทดลองปฏิบัติต่อไป