บทคัดย่อ
รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อติดตามประเมินผลการพัฒนาระบบบริการตติยภูมิมะเร็งชั้นสูง ทั้งในด้านประสิทธิผลของการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และกระบวนการบริหารจัดการที่ระดับโรงพยาบาล ผลลัพธ์รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น วิธีการศึกษาประกอบด้วยการทบทวนเอกสาร การสนทนากลุ่มผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาล 5 แห่ง สัมภาษณ์ผู้บริหารสถานพยาบาล 5 แห่ง สัมภาษณ์ผู้บริหารและนักวิชากรส่วนกลาง 9 คน ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณจากแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติในสถานพยาบาลตติยภูมิชั้นสูงจำนวน 30 แห่งเป็นผู้ตอบและส่งกลับทางไปรษณีย์ด้วยอัตราการตอบกลับร้อยละ 77 หรือ 25 แห่ง การพัฒนาระบบบริการตติยภูมิชั้นสูงในด้านมะเร็งมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อวางแผนระดับชาติ ในการพัฒนาศูนย์บริการตติยภูมิเฉพาะด้าน ทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาคอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีการจัดเครือข่ายบริการที่เชื่อมโยงบริการ โดยสถานพยาบาลมีการพัฒนาระบบการจัดบริการสู่มาตรฐาน มีการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางในทุกสาขาที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ทักษะสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางวิชาการ และมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานในศูนย์ตติยภูมิที่เป็นเป้าหมาย และได้ทำให้ประชาชนในภูมิภาคต่างๆมีเข้าถึงบริการสถานบริการตติยภูมิอย่างทั่วถึง สำหรับแนวทางหรือกลยุทธ์สำคัญของการพัฒนา โดยคณะทำงานพัฒนาระบบบริการตติยภูมิด้านโรคมะเร็ง ค่อนข้างบรรลุวัตถุประสงค์ให้มีการบริหารสินทรัพย์ และทรัพยากรด้านสุขภาพ ที่มีอยู่แล้วโดยหลีกเลี่ยงการลงทุนในสถานที่ใหม่หรือจัดตั้งเป็นสถาบันใหม่ ได้กระจายการลงทุนด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนทุกภูมิภาค ที่มีปัญหาด้านบริการด้านทางการแพทย์ตติยภูมิเข้าถึงได้ง่าย ด้วยแนวทางการพัฒนาบุคลการ กระจายบุคลากร และสร้างระบบแรงจูงใจ แต่ยังไม่สามารถสร้างให้เกิดเครือข่ายบริการระดับตติยภูมิ ให้บริการรักษาโรคที่ซับซ้อนใช้ทรัพยากรและค่าใช้จ่ายมาก มีความเชื่อมโยงในแนวดิ่งและแนวราบ และยังไม่มีการใช้ข้อมูลสถิติโรคในพื้นที่มาประกอบการจัดทำงบประมาณ สร้างระบบข้อมูลภูมิศาสตร์สารสนเทศอย่างเป็นรูปธรรม ศักยภาพของโรงพยาบาลตติยภูมิชั้นสูงด้านมะเร็งในปัจจุบันทั้งด้านอุปกรณ์และบุคลากรยังเป็นช่องว่างที่สำคัญของระบบ การสนับสนุนงบลงทุนของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีผลต่อการเข้าถึงบริการของประชาชน ไม่แตกต่างกันระหว่างภูมิลำเนาหรือสวัสดิการสุขภาพ ส่วนการบริหารระบบการจ่าค่าตอบแทนแก่แพทย์ที่ให้บริการตติยภูมิชั้นสูงด้านมะเร็งมีแนวทางค่อนข้างยืดหยุ่นให้สถานพยาบาลดำเนินบริหารจัดการให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ตนเองได้ แต่ยังไม่พบความสัมพันธ์ของการจ่ายค่าตอบแทนกับการเพิ่มผลผลิตที่ชัดเจน