บทคัดย่อ
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2548 อันเป็นวันที่มีพิธีปิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา กรุงเทพมหานคร ผู้ที่เข้าร่วมงานทุกคน และผู้ที่ติดตามข่าวคราวเรื่อง
การปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทย มีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า “ธรรมนูญสุขภาพของคนไทย”
หรือ “ร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ" ซึ่งได้ดําเนินการกันมาอย่างแข็งขัน ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม
2543 จะได้รับการผลักดันให้เป็นกฎหมายในเวลาที่ไม่นานนัก เพราะทั้งประมุขฝ่ายบริหาร (พ.ต.ต.
ทักษิณ ชินวัตร) ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ (นายอุทัย พิมพ์ใจชน) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) ได้กล่าวสอดคล้องต้องกันอย่างหนักแน่นว่า “ร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ” จะถูกผลักดันให้เข้าสู่ขั้นตอนนิติบัญญัติจนออกมาเป็นกฎหมาย แต่ตั้งแต่วันนัั้นจนกระทั่งปัจจุบันนี้ (มิถุนายน 2547) “ร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ" ได้ผ่านขั้นตอนเพียงได้ รับความเห็นชอบในหลักการของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) เป็นประธาน (เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2546) เท่านั้น ตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น หลังจากที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองฯ คณะที่ 3 แล้ว พระราชบัญญัติฉบับนี้ ควรจะได้รับการพิจารณาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรีกลับส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีชุดที่มีรองนายกรัฐมนตรี
(นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธานดูแลอีกชั้นหนึ่ง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ความไม่แน่นอนและความไม่ชัดเจนว่าอนาคตของพระราชบัญญัติสุขภาพฉบับนี้จะได้ประกาศเป็นกฎหมายหรือไม่และจะใช้เวลาอีกนานเท่าไร ก่อให้เกิดประเด็นคำถามที่น่าสนใจว่า แนวคิดหลักๆ ที่มีคุณค่าหลายประการที่ปรากฏอยู่ในร่างพระราชบัญญัติสุขภาพฉบับนี้ สามารถผลักดันให้มีการนําสู่การปฏิบัติจริงโดยไม่จําเป็นต้องรอให้พระราชบัญญัติดังกล่าวประกาศเป็นกฎหมายได้หรือไม่ และช่องทางหรือกระบวนการที่จะช่วยให้แนวคิดหลักๆ ในพระราชบัญญัติสุขภาพ ได้รับการนําไปปฏิบัติจริงได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึงนั้นคืออะไร รายงานฉบับนี้จึงเป็นผลของความพยายามหาคําตอบดังกล่าว