บทคัดย่อ
ผู้วิจัยเห็นว่าหลักฐานจากการศึกษาที่มีอยู่ เราสามารถระบุได้ว่าระบบการรักษาทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเป็นบริการที่มีราคาแพง และมีความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสูง โดยผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มผู้มีฐานะยากจนได้รับการรักษาทดแทนไตในสัดส่วนที่น้อยมาก เพราะไม่มีเงินไปจ่ายค่ารักษา และสวัสดิการรักษาพยาบาลไม่เปิดช่องให้เท่ากับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการหรือประกันสังคมที่ผุ้ป่วยที่ทำการรักษาทดแทนไตได้รับการอุดหนุนค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมด
เพราะฉะนั้นทางเลือกที่จะไม่ดำเนินการอะไรเลยเมื่อเห็นปัญหาอยู่ตรงหน้าเป็นทางเลือกที่ไม่ควรพิจารณา แต่การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ยากเช่นกันเพราะทุกอย่างถูกกำหนดด้วยข้อจำกัดจากทรัพยากรมีไม่เพียงพอที่จะให้บริการสำหรับคนทุกคน การที่จะส่งเสริมป้องกันโรคนี้เป็นหลักการทางสาธารณสุขที่น่าพิจารณาที่สุด แต่จะป้องกันโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายอย่างไรให้ได้ผลดี เป็นคำถามที่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์คงจะต้องหาคำตอบต่อไปว่าสาเหตุของการเกิดโรคคืออะไรและการที่จะป้องกันที่สาเหตุนั้นต้องทำอย่างไร จะต้องลงทุนอีกเท่าไรในการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดผุ้ป่วยรายใหม่หนึ่งราย ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการหาคำตอบพอสมควร การที่จัดตั้งกองทุนประกันสุขภาพสำหรับโรคราคาแพง ต้องมีจำนวนผู้เข้าร่วมจำนวนมาก (หลายล้านคน) ถึงจะสามารถดำเนินการได้ อาจจะต้องมีการออกกฎหมายเพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าร่วมกับกองทุนนี้ ซึ่งน่าจะมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้โดยนักวิชาการที่เกี่ยวข้องต่อไป
จากข้อมูลที่พบว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยทุกคนอาจจะสูงถึงหลายพันล้านบาทวึ่งทำให้การให้การรักษาทดแทนไตแก่ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายทุกคนด้วยการอุดหนุนจากรัฐเป็นไปได้ยาก การสร้างเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ที่จะสมควรจะได้รับบริการให้เข้าถึงบริการและได้รับการอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลจากภาครัฐเป็นสิ่งที่ผู้วิจัยเห็นว่าจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีอยู่ ตารางที่ 4-5 เป็นเกณฑ์ที่อายุรแพทย์ได้ให้ความเห็นเพื่อคัดเลือกผู้ป่วยเมื่อทรัพยากรมีจำกัด ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ได้คิดในการแก้ปัญหาสำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงต่างๆต่อไป
อย่างไรก็ตามเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ป่วยนี้เป็นเพียงร่างความเห็นจากแพทย์ผู้ให้บริการพียงฝ่ายเดียว การได้รับความเห็นร่วมจากกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป ผู้ป่วย นักวิชาการสาขาต่างๆ และผู้ที่มีหน้าที่ในการออกกฎระเบียบและนโยบายต่างๆ จะทำให้ได้ทางออกที่เป็นที่ยอมรับและเป็นไปได้ โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมในการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชน เมื่อทรัพยากรที่ใช้ในการรักษาพยาบาลมีจำกัด