บทคัดย่อ
ศักยภาพทางกายเป็นองค์ประกอบสําคัญที่ทำให้เกิดสุขภาวะทางกาย จิต สังคม และปัญญา การบกพร่องของศักยภาพทางกายจะส่งผลให้เกิดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาว่า “ระบบกายภาพบำบัดจะเติมเต็มศักยภาพทางกายของประชาชนไทยได้อย่างไร ใน 10 ปีข้างหน้า?” วิธีการวิจัยและผลการวิจัยใช้กระบวนการ “การมองอนาคต” ที่ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน โดยมีรายละเอียดของขั้นตอนและผลการวิจัย ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การจัดทํารายงานสถานภาพปัจจุบัน (position papers) เพื่อทําความเข้าใจกับระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่เกี่ยวของกับระบบกายภาพบําบัด 5 เรื่อง คือ 1) การจัดการกำลังคนในระบบกายภาพบําบัด 2) การบริการทางกายภาพบําบัดในระบบกายภาพบําบัด 3) การดูแลสุขภาพตนเองด้วยวิธีการทางกายภาพ 4) เทคโนโลยีและการจัดการความรู้ในระบบกายภาพบําบัด และ 5) กายภาพบําบัดในมุมมองของภาคประชาชน ขั้นตอนที่ 2 ค้นหาประเด็นสําคัญของสถานการณ์ปัจจุบันและจัดทําเป็นรายงานประเด็นสําคัญ (issues paper) 4 ประเด็น คือ 1) การปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการจัดการความรู้ในระบบกายภาพบําบัด 2) การเข้าถึงการบริการทางกายภาพบําบัดของประชาชน 3) การสร้างเครือข่ายเพื่อการดูแลสุขภาพตนเองของประชาชนและ 4) การมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคประชาสังคมในระบบกายภาพบําบัด และขั้นตอนที่ 3 การนําประเด็นสําคัญไปจัดประชุม “การมองอนาคต” (foresight) ร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน เพื่อกําหนดเป้าหมายในอนาคต 5 เป้าหมาย และกําหนดยุทธศาสตร์เกี่ยวกับระบบกายภาพบำบัดของประชาชนไทยในทศวรรษหน้า (พ.ศ. 2548-2557) คณะผู้วิจัยได้นําข้อมูลที่ได้จากการศึกษาทั้งหมดทั้ง 3 ขั้นตอน มาพิจารณาวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันให้บรรลุตามเป้าหมาย ดังนี้ เป้าหมายที่ 1 ประชาชนไทยมีความรู้เกี่ยวกับการเติมเต็มศักยภาพทางกาย แผนยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 1) การสร้างกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับการเติมเต็มศักยภาพทางกายให้ประชาชนทุกกลุ่มอายุ และ 2) การเพิ่มความสามารถของประชาชนในการเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับการเติมเต็มศักยภาพทางกายด้วยวิธีการทางกายภาพ เป้าหมายที่ 2 ประชาชนไทยสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการทางกายภาพโดยเฉพาะวิธีการที่มีอยู่ดั้งเดิมของไทยในการเติมเต็มศักยภาพทางกายได้ แผนยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1) การส่งเสริมแนวคิดการใช้วิธีการทางกายภาพที่มีอยู่ดั้งเดิมของไทยในการเติมเต็มศักยภาพทางกายแก่ประชาชน 2) การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมที่ประยุกต้ใช้วิธีการทางกายภาพที่มีอยู่ดั้งเดิมของไทยเพื่อเติมเต็มศักยภาพทางกายของประชาชน เป้าหมายที่ 3 ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการที่ใช้วิธีการทางกายภาพจากนักวิชาชีพทางกายภาพบําบัดได้อย่างทั่วถึง แผนยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการกระบวนการผลิตและการใช้กําลังคนทางกายภาพบําบัด 2) การบริหารจัดการระบบบริการทางกายภาพบําบัด 3) การสนับสนุนนักวิชาชีพทางกายภาพบําบัดให้มีบทบาทในการให้บริการระดับปฐมภูมิ และ 4) การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิผู้บริโภค เป้าหมายที่ 4 นักวิชาชีพทางกายภาพบําบัดมีระบบคิดที่สอดคล้องกับระบบสุขภาพแนวใหม่แผนยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 1) การจัดการศึกษาสําหรับนักวิชาชีพทางกายภาพบําบัดให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพแนวใหม่ 2) การสร้างกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพแนวใหม่ให้นักวิชาชีพทางกายภาพบําบัด และ 3) การส่งเสริมนักวิชาชีพทางกายภาพบําบัดให้เข้าร่วมกับกลุ่มประชาคมและกิจกรรมต่างๆ ของสังคม และเป้าหมายที่ 5 การบริการด้วยวิธีการทางกายภาพของนักวิชาชีพทางกายภาพบําบัดมีคุณภาพและมาตรฐานเพียงพอในการแข่งขัน แผนยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 1) การสร้างกระบวนการตรวจสอบ ควบคุมคุณภาพ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพของการบริการในทุกระดับ 2) การพัฒนามาตรฐานหลักสูตรการเรียนการสอนสําหรับนักวิชาชีพทางกายภาพบำบัด 3) การส่งเสริมแนวทางและการบริหารจัดการการศึกษาต่อเนื่องของนักวิชาชีพทางกายภาพบําบัด 4) การพัฒนาวิธีการทางกายภาพบําบัดให้มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ และ 5) การพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับการบริการด้วยวิธีการทางกายภาพ โดยในแต่ละแผนยุทธศาสตร์จะมีการร่วมประสานกับองค์กรที่เกี่ยวข้องและมีการกําหนดโจทย์การวิจัยที่สนับสนุนให้การดําเนินแผนยุทธศาสตร์บรรลุตามเป้าหมาย