บทคัดย่อ
การศึกษาเชิงนโยบายการสร้างนักสื่อสารสุขภาพและระบบการสื่อสารสุขภาพแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนานักสื่อสารสุขภาพและสร้างข้อเสนอระบบการสื่อสารสุขภาพที่เหมาะสมกับสังคมไทย โดยใช้วิธีการวิจัยเอกสารจากภายในและต่างประเทศ การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ แพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญการส่งเสริมสาธารณสุขขององค์กรในและต่างประเทศ นักวิชาการด้านการสื่อสาร นักวิชาการสาธารณสุข สื่อท้องถิ่น และนักสื่อสารสุขภาพท้องถิ่น หลังจากการรวบรวมข้อมูลรอบด้านแล้ว สรุปผลการวิจัยได้ดังต่อไปนี้ 1. หลักสูตรต้นแบบการพัฒนานักสื่อสารสุขภาพที่สามารถนำไปประยุกต์เป็นแนวทางการจัดหลักสูตรการสื่อสารสุขภาพใน 3 ระดับ คือ หลักสูตรการสื่อสารสุขภาพระดับปริญญาตรี เป็นหลักสูตรที่ใช้เวลาศึกษา 4 ปี โดยมีโครงสร้างหลักสูตรแบ่งเป็นหมวดวิชาพื้นฐาน ประกอบด้วย วิชาด้านการสื่อสาร ด้านสุขภาพ และทักษะการสื่อสารสุขภาพ หมวดวิชาบังคับ ประกอบด้วย วิชาด้านกลยุทธ์การสื่อสารสุขภาพ การสร้างเครือข่าย จริยธรรม และการวิจัย หมวดวิชาเลือก เป็นรายวิชาเสริมความถนัดเฉพาะทางในการสื่อสารสุขภาพ หมวดวิชาเลือกเสรี เป็นวิชาที่ให้เลือกเรียนจากวิชาสาขาอื่นตามความสนใจ ซึ่งสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการสื่อสารสุขภาพ และการฝึกงานชุมชน เน้นการฝึกปฏิบัติภาคสนามในชุมชน หลักสูตรนี้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้หลัก ทฤษฎี กลยุทธ์ และทักษะการสื่อสารที่ปฏิบัติได้ในสถานการณ์จริง หลักสูตรการสื่อสารสุขภาพระดับต่อยอดหลักสูตรเดิม เป็นหลักสูตรใช้เวลาศึกษา 1-2 ปี สำหรับผู้มีพื้นความรู้ด้านการสื่อสารหรือด้านสุขภาพ มีโครงสร้างลักษณะเดียวกับหลักสูตรระดับปริญญาตรี โดยจัดให้เหมาะสมกับผู้ต้องการต่อยอดความรู้ในด้านหนึ่งด้านใด การสื่อสารหรือสุขภาพเพื่อเสริมทักษะการสื่อสารสุขภาพให้เข้มแข็งขึ้น หลักสูตรการสื่อสารสุขภาพระดับฝึกอบรม เป็นหลักสูตรที่สามารถใช้เวลาตั้งแต่ 1 วันไปถึง 3-6 เดือน เน้นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับสถานการณ์สุขภาพ ประเด็นสุขภาพ สาธารณสุข การสื่อสารสุขภาพ การวางแผนการสื่อสารสุขภาพ ทักษะการผลิตสื่อเพื่อการสื่อสารสุขภาพ 2. แบบจำลองระบบการสื่อสารสุขภาพสู่ประชาชน มีกรอบความคิดที่ผนวกศาสตร์ด้านการสื่อสารกับศาสตร์ด้านสุขภาพ เพื่อให้เกิดกิจกรรมการสื่อสารสุขภาพเพื่อการมีสุขภาวะที่ดี มีองค์ประกอบสำคัญ คือ นักสื่อสารสุขภาพ ทำหน้าที่จัดการการสื่อสาร เชื่อมโยงเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพในสังคมไทยทุกระดับ โดยบริหารให้นำเสนอเนื้อหาสุขภาพ มีรูปแบบที่เข้าใจง่าย ถูกต้อง เป็นกลาง น่าเชื่อถือ ไม่มีนัยยะเชิงพาณิชย์ โดยผ่านช่องทางการสื่อสารระดับมวลชนและท้องถิ่นอย่างถาวรต่อเนื่อง ไปถึงประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการคาดหวังว่า หลังจากได้รับข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้องและเพียงพอแล้ว จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อสุขภาวะที่ดี ผลสัมฤทธิ์ของระบบการสื่อสารสุขภาพเกิดจากการทำหน้าที่อย่างเชื่อมโยงในกิจกรรมการสื่อสารสุขภาพ 3 ระยะ คือ ระยะต้น เป็นกลยุทธ์การสร้างกิจกรรมการสื่อสารในทิศทางที่สามารถนำไปสู่ระยะต่อมา คือ การเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมสุขภาพ จนบรรลุเป้าหมายสูงสุดของระบบฯ คือ ประชาชนไทยมีสุขภาวะดี ซึ่งเป็นระยะสูงสุดตามเป้าหมายการสื่อสารสุขภาพ ประการสำคัญ การบริหารระบบการสื่อสารสุขภาพต้องคำนึงถึงบริบทของสังคมไทยในเรื่องสถานการณ์ทางสุขภาพ วัฒนธรรมการสื่อสาร ประเพณี ความเชื่อ จึงต้องมีกลไกที่เป็นปัจจัยสนับสนุน คือ ปณิธานและความมีจิตอาสาของนักสื่อสารสุขภาพ เครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ นโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับสุขภาพ แหล่งข้อมูลสุขภาพ การสร้างนักสื่อสารสุขภาพ อย่างมีพลวัตในการขับเคลื่อนให้สามารถสนองตอบความต้องการของสังคมได้ตลอดเวลา