บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทเรียนจากการดำเนินงานด้านการเสริมสร้างศักยภาพผู้บริโภคในภาคเหนือโดยการศึกษาพัฒนาการและปัจจัยเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการก่อตัวของกลุ่มที่ดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างพลังผู้บริโภค ศึกษาปรัชญา การทำงาน รูปแบบ กระบวนการจัดการองค์การ กลไก และแนวทางการทำงานของกลุ่ม เพื่อสังเคราะห์บทเรียนและข้อเสนอในการดำเนินการเสริมสร้างพลังผู้บริโภคในภาคเหนือ ใช้วิธีการศึกษาโดยเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม และการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่ดำเนินงานด้านการเสริมสร้างพลังผู้บริโภคในภาคเหนือ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการกำหนดประเด็นและพรรณนาข้อมูลเพื่อนำเสนอตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ผลการศึกษา การดำเนินการของกลุ่มที่ดำเนินงานด้านการเสริมสร้างพลังผู้บริโภคทั้ง 5 กลุ่มได้แก่ 1) ชมรมผู้ประกอบการร่วมใจใส่ใจผู้บริโภค อำเภอแม่ริม จังหวัดน่าน ที่ตระหนักในความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการสนับสนุนให้กลุ่มผู้ประกอบการเข้ามาร่วมเป็นพลังในการคุ้มครองผู้บริโภค 2) ชมรมเกษตรธรรมชาติและอาหารปลอดภัย จังหวัดพิจิตร ที่มีความพอเพียงและมีการสรุปบทเรียนอย่างมีระบบและจัดกระบวนการถ่ายทอดความรู้ไปสู่ชุมชนและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางความคิดที่ยั่งยืน 3) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่พัฒนากิจกรรมให้เกิดเป็นพลังของกลุ่ม พลังทางสุขภาพ และพลังทางสังคม จนเกิดเป็นเครือข่ายจากระดับปัจเจกสู่ระดับประเทศ เกิดภาคีความร่วมมือเพื่อการแก้ไขปัญหาของสังคมในที่สุด 4) กลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วย อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นการรวมพลังของกลุ่มผู้ประสบปัญหาสุขภาพจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ต่อรองให้ได้รับการดูแลด้านสุขภาพและให้ได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้จากการสูญเสียที่เกิดขึ้น 5) ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค จังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเท่าทัน ผ่านพลังสตรีในครอบครัวและในชุมชนแล้วสร้างเครือข่ายความร่วมมือไปสู่เด็ก เยาวชนในโรงเรียนและกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน กล่าวโดยสรุปบทเรียนจากการดำเนินงานด้านการเสริมสร้างพลังผู้บริโภคในภาคเหนือเกิดจากการที่ประชาชนประสบปัญหาด้านสุขภาพอนามัย ความยากจน การถูกละเมิดสิทธิ เป็นต้น โดยสาเหตุของปัญหามาจากการกำหนดนโยบายการพัฒนาภาครัฐ ที่เน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจมากกว่าการพัฒนาด้านสังคม ดังนั้นการดำเนินการของภาคประชาชนจึงเป็นลักษณะการขยายตัวอย่างช้าๆ ขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกเพื่อความต่อเนื่องและยั่งยืน