บทคัดย่อ
ระบบส่งต่อที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนดขึ้นจะเริ่มต้นที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน ในทางปฏิบัติเมื่อมีผู้ป่วยหนักเกินขีดความสามารถ ถ้าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลจะจัดรถพยาบาลและเจ้าหน้าที่นำส่งให้ แต่หากไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน การไปรับการรักษายังสถานบริการตามระบบส่งต่อจะเป็นภาระหน้าที่ของผู้ป่วยเอง ปัญหาเรื่องการที่แพทย์แนะนำหรือส่งผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงขึ้น แต่ผู้ป่วยไม่ไป น่าจะเป็นปัญหาที่พบเห็นได้เสมอในทุกโรงพยาบาล จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกัน แต่สําหรับอําเภอแม่ระมาดและอําเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นอำเภอชายแดน ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับการส่งรักษาต่อจะเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งถูกนําส่งโดยรถพยาบาล แต่อีกประมาณครึ่งหนึ่งต้องเดินทางไปรับการรักษาเอง ผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่จะป่วยด้วยโรคที่ไม่ฉุกเฉิน จากการศึกษาข้อมูลตอบกลับจากแบบแจ้งผลการตรวจรักษา (ใบตอบใบ refer) พบว่าผู้ป่วยเหล่านี้จำนวนมากไม่ไปรับการรักษา หรือไปรับการรักษาแต่ไม่ต่อเนื่อง ข้อน่าสังเกตคือผู้ป่วยเกือบทุกรายเป็นผู้ที่มีหลักประกันสุขภาพแล้วทั้งสิ้น แต่ไม่สามารถไปรับการรักษาตามระบบส่งต่อได้ เพราะเหตุเนื่องจากฐานะยากจน พูดภาษาไทยไม่ได้ ไม่รู้จักวิธีเดินทาง ฯลฯ แม้ว่าโรงพยาบาลจะได้ตระหนักและหาหนทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปบ้างแล้วก็ตาม แต่การศึกษาเพื่อให้ทราบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการส่งไปรักษาต่อยังสถานบริการสาธารณสุขระดับสูงขึ้นไป ไปรับการรักษาครบถ้วนมากน้อยเพียงใด และมีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคซึ่งจะเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบส่งต่อให้สามารถตอบสนองต่อความจำเป็นของผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง