บทคัดย่อ
ผลจากการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมของในประเทศไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีประชากรทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทะเลและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางทะเล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีแหล่งวัตถุดิบในพื้นที่ มีกำลังการผลิตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงงานประเภทดังกล่าวมีความต้องการแรงงานค่อนข้างมาก เพื่อรองรับการเติบโตทางธุรกิจ แรงงานถือเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญในการดูแลเพื่อ เพิ่มขีดความสามารถของคนทำงานในการผลิตเพื่อแข่งขันกับนานาประเทศ แนวทางหนึ่งคือ การยกระดับความสามารถและความพร้อมของคนทำงานโดยการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานในสถานประกอบการ เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างสังคมที่มีสุขภาวะ (wellbeing) ซึ่งหมายถึง สุขภาพกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณที่ดี ซึ่งแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อระดับการผลิต การเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมที่สามารถช่วยเพิ่มระดับผลผลิตให้มากขึ้น ประกอบกับนโยบายของประเทศไทยที่ต้องการสร้างแรงงานที่มีฝีมือและคุณภาพระดับโลก ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจึงควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โรงงานแปซิฟิกแปรรูปสัตว์น้ำ จังหวัดสงขลา เป็นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางทะเล ซึ่งมีกำลังการผลิตตลอดทั้งวัน แรงงานส่วนใหญ่จึงทำงานเป็นกะ มีพนักงานทั้งสิ้น 2,500 คน โดยจะผลัดเปลี่ยนกันเข้ากะทำงาน การดำเนินงานด้านการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงานส่วนใหญ่ที่ทางโรงงานดังกล่าวดำเนินอยู่ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้บริการรักษาพยาบาล การจัดสวัสดิการที่รับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาดและการจัดที่พักผ่อนระหว่างพักกลางวันให้กับพนักงาน ส่วนด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของคนทำงานยังไม่ชัดเจนนัก แผนงานวิจัยและพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและระบบการประเมินผลกับกระทางสุขภาพ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงานในสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นในจังหวัดสงขลา จึงได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้บริหารสถานประกอบการและนักวิชาการจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการทำงานของคนทำงานในสถานประกอบการขึ้น ทั้งนี้เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้ไปพัฒนาเป็นมาตรฐานเพื่อการดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานกลุ่มดังกล่าวและเพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบระบบการจัดการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศต่อไป