บทคัดย่อ
โครงการเครือข่ายพัฒนาระบบสารสนเทศเภสัชกรรมโรงพยาบาล เป็นแนวคิดใหม่ในการส่งเสริมการใช้ยาอย่างเหมาะสม (rational use of drugs) ที่พัฒนาระบบการสนับสนุนโรงพยาบาลในการติดตามการใช้ยา โดยการสร้างกลไกการวิเคราะห์การใช้ยาอย่างต่อเนื่อง การใช้ข้อมูลป้อนกลับ (information feedback) และการดําเนินมาตรการเพื่อส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสม ณ สถานพยาบาล ซึ่งเป็นจุดที่เกิดการใช้ยา เป็นแนวทางเพื่อการจัดการเชิงระบบ สำหรับการพัฒนาตัวแบบมาตรการใช้ยาอย่างเหมาะสม ตลอดจนส่งเสริมการเรียนรู้และการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ (evidence-based decision-making) การวิเคราะห์การใช้ยาของโรงพยาบาล จึงเป็นแนวทางสำคัญประการหนึ่งที่นํามาใช้เพื่อพัฒนากลไกการส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสม โครงการนี้ใช้แนวทางที่ให้มีการดำเนินงานอย่างครบวงจร โดยการพัฒนาด้านต่างๆ ดังนี้ 1. พัฒนามาตรฐานข้อมูลทั้งในส่วนของรหัสยาและตัวชี้วัดระบบยา 2. กรอบการวิเคราะห์ที่สะท้อนประเด็นปัญหาอย่างชัดเจน 3. กลไกการส่งข้อมูลป้อนกลับและการติดตามอย่างต่อเนื่อง 4. การพัฒนามาตรการเพื่อให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสมในองค์กรบริการสุขภาพ 5. กลไกการพัฒนามาตรฐานและกรอบวิเคราะห์ให้ทันสมัยและตอบสนองต่อประเด็นการตัดสินใจที่อาจแตกต่างกันในช่วงเวลาต่างๆ สำหรับช่วงการดำเนินงาน มีนาคม 2548 – กุมภาพันธ์ 2549 ได้ทําการพัฒนากรอบการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้ยาผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล วิเคราะห์ปัญหาระบบข้อมูล/การจัดการข้อมูลยาของโรงพยาบาล และทำการวิเคราะห์การใช้ยาผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลจำนวน 10 แห่ง นอกจากนี้ยังได้ส่งข้อมูลป้อนกลับทั้งในส่วนของประเด็นปัญหาระบบข้อมูล ข้อเสนอแนะและผลการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้ยาให้กับโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการด้วย ในส่วนของปัญหาระบบข้อมูล/การจัดการข้อมูลยาของโรงพยาบาล พบว่าระบบข้อมูลยาของโรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่ศึกษา มีปัญหาซึ่งสามารถประมวลเป็น 3 ด้านหลักได้ดังนี้ 1) ความหลากหลายของรูปแบบข้อมูลในระบบสารสนเทศและการเชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูลต่างๆ ของโรงพยาบาล 2) ความหลากหลายของรหัสอ้างอิงและ 3) ปัญหาการสูญหาย ความไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วนของข้อมูลที่จัดเก็บในฐานข้อมูลของโรงพยาบาล ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้รับการแก้ไขแล้วในโครงการนี้ เพื่อนําข้อมูลไปใช้ในส่วนของการวิเคราะห์ สำหรับผลการวิเคราะห์ข้อมลการใช้ยา ได้ทําการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้ยาผู้ป่วยนอกตามกรอบการวิเคราะห์ที่พัฒนาขึ้น ทั้งในเรื่องภาพรวมของการใช้ยา เช่น จํานวนครั้งของการรับยาต่อคนต่อปี ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อปีต่อใบสั่ง ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยที่ใช้สิทธิการรักษาต่างๆ สัดส่วนการใช้ยาในบัญชียาหลักและทำการวิเคราะห์ยาเฉพาะกลุ่มและเฉพาะประเด็น เช่น กลุ่ม ARVs, NSAIDs การเปลี่ยนแปลงปริมาณการใช้ของยาบางรายการที่ถูกบรรจุเข้าบัญชียาหลักฉบับใหม่ เป็นต้น การขยายผลในระยะต่อไปควรดําเนินการใน 4 ด้านด้วยกันคือ 1. ขยายเชิงปริมาณ โดยการเพิ่มจํานวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมเครือข่าย 2. พัฒนารูปแบบให้โรงพยาบาลร่วมลงทุน ร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์ 3. ต่อยอดกิจกรรมจากผลการวิเคราะห์การใช้ยาให้นําไปสู่การพัฒนามาตรการและโครงการส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสมที่เป็น evidence-based 4. จัดกลไกให้มีการประเมินการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง 5. พัฒนากลไกการในการปรับปรุงมาตรฐานและกรอบวิเคราะห์ให้ทันสมัย โครงการจัดทําฐานข้อมูลและระบบสืบค้นงานวิจัยเกี่ยวกับระบบยาในประเทศไทย โครงการนี้ทําการรวบรวมผลงานงานวิจัยเชิงประจักษ์เกี่ยวกับระบบยาในประเทศไทยเข้าเป็นฐานข้อมูล จัดให้มีระบบสืบค้นโดยใช้ keyword ผ่าน internet จะเป็นกลไกสำคัญจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการความรู้และการพัฒนาต่อยอดความรู้เกี่ยวกับระบบยาในประเทศไทย ได้ทําการพัฒนาโปรแกรมการสืบค้น ทําการทดลองใช้และประเมินผลการใช้ ในช่วงต่อไปควรจัดให้มีการดําเนินการ 2 ด้าน คือ 1) ปรับปรุงฐานข้อมูลให้ทันสมัย 2) นําข้อเสนอจากการทดลองใช้มาปรับปรุงโปรแกรมเพื่อตอบสนองการใช้ให้สะดวกต่อการสืบค้นดีขึ้น