บทคัดย่อ
การประเมินผลกระทบของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อค่าใช้จ่ายและลักษณะการใช้ของ 9 กลุ่มยาในการวิจัยนี้ อาศัยการวิเคราะห์แบบทุติยภูมิสำหรับฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้านการสั่งใช้ยาแก่ผู้ป่วยนอกระหว่างปีงบประมาณ 2543-2545 ของโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป 18 แห่งใน 4 ภูมิภาคของประเทศ การวิเคราะห์ข้อมูลรวมจากผู้ป่วยทุกราย พบว่า ค่าใช้จ่ายของกลุ่มยาส่วนใหญ่ในรอบหนึ่งปีภายหลังนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น (6-17%) จากปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าในรอบปีก่อนหน้าทั้งด้านมูลค่า (16-47%) และจำนวนผู้ที่ใช้ยา (4-30%) การเติบโตของค่าใช้จ่ายกลุ่มยาดังกล่าวน่าจะเกิดจากการขยายตัวของการใช้ยาใหม่ซึ่งมีมูลค่าต่อวันแพงกว่ายาประเภทอื่นในกลุ่มข้อบ่งใช้เดียวกัน (3-16 เท่า) โดยส่วนแบ่งของยาใหม่หรือยาราคาแพงในยาแต่ละกลุ่มข้อบ่งใช้มีความผันแปรขึ้นกับโรงพยาบาลที่ศึกษา สำหรับการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายของกลุ่มยาด้วย generalized linear model โดยใช้ข้อมูลในระดับรายบุคคล พบว่า ในผู้ป่วยแต่ละรายซึ่งมีอายุ เพศ สิทธิการรักษาที่เหมือนกันและได้รับการสั่งใช้ยาจากโรงพยาบาลเดียวกัน ค่าใช้จ่ายของ Calcium channel blockers และ Antiepileptics ในหนึ่งปีก่อนหน้าการใช้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้นจากเมื่อสองปีก่อนหน้า (7% และ 14%, P<0.001) และภายหลังการใช้นโยบายดังกล่าว มูลค่าของยา 2 กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือไม่เพิ่มขึ้น ในขณะที่มูลค่าของ Antihyperlipidemics ลดลงโดยลำดับในช่วงระยะเวลาเดียวกัน (-6% และ -32%, P<0.001) สำหรับ NSAID, ACE inhibitors และ A2 receptor antagonists แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายของกลุ่มยาขึ้นกับสิทธิการรักษาของผู้ป่วย โดยมีอัตราการเติบโตในกลุ่มสวัสดิการข้าราชการสูงกว่าในกลุ่มรายได้น้อยหรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กลุ่มยาที่มีมูลค่าการใช้ลดลงเมื่อเวลาผ่านไปในทุกสิทธิการรักษาด้วยขนาดที่แตกต่างกัน คือ Antiulcerants สำหรับ Antiasthmatics ค่าใช้จ่ายในทุกสิทธิการรักษา ยกเว้น กลุ่มประกันสังคม เพิ่มขึ้นในปี 2544 แล้วกลับลดลงในปี 2545 หลังการใช้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกจากนี้ การใช้ยาใหม่หรือยาราคาแพงยังมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายของกลุ่มยาในรอบปีของผู้ป่วยแต่ละรายสูงขึ้นตั้งแต่ 140% (สำหรับ Long-acting calcium channel blockers) ถึง 1,101% (สำหรับ COX2 inhibitors) (P<0.001)เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลการได้รับการสั่งใช้ยาของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย logistic regression พบว่า การเติบโตของโอกาสใช้ยาใหม่หรือยาราคาแพงภายหลังนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีน้อยกว่าในรอบปีก่อนหน้านโยบายดังกล่าว โดยในผู้ป่วยที่มีการใช้ยาติดต่อกัน 3 ปี แนวโน้มการใช้ยา ACE inhibitors ชนิดใหม่, Long-acting calcium channel blockers, และ Statins ที่เพิ่มขึ้นในปี 2544 แล้วลดลงในปี 2545 ไม่ขึ้นกับสิทธิการรักษา ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นกลุ่มที่มีโอกาสใช้ยาทั้งสามน้อยกว่าผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการอย่างคงเส้นคงวาในทุกปี นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปีงบประมาณ 2545 ไม่ช่วยให้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิตามนโยบายดังกล่าวซึ่งเคยได้รับสิทธิรายได้น้อยมาก่อนมีโอกาสได้รับการสั่งใช้ inhaled corticosteroids ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิผลในการควบคุมอาการหอบหืดแต่มีราคาแพง เพิ่มขึ้น (OR2545 vs 2544 =0.8, P=0.09) ในขณะที่การเติบโตของโอกาสใช้ยา COX2 inhibitors, Proton pump inhibitors, และ ยาต้านไวรัสเอดส์ชนิด Protease inhibitors หรือ Nonnucleoside reverse transcriptase inhibitors มีลักษณะที่ผันแปรขึ้นกับสิทธิการรักษาของผู้ป่วย โดยผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2545 มีโอกาสได้รับการสั่งใช้ยาดังกล่าวลดลงจากปี 2544 ในผู้ที่ใช้สิทธิรายได้น้อย ในทำนองเดียวกัน ความเสียเปรียบในโอกาสใช้ยาทั้งสามของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือรายได้น้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มสวัสดิการข้าราชการก็มีแนวโน้มห่างกันมากยิ่งขึ้นภายหลังการใช้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในด้านความต่อเนื่องของการใช้ยาใหม่หรือยาราคาแพงในผู้ป่วยที่ได้รับการสั่งใช้ยาทั้ง 3 ปี พบว่า ภายหลังนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิตามนโยบายดังกล่าวทั้งสองกลุ่มซึ่งไม่เคยได้รับการสั่งใช้ยาใหม่หรือยาราคาแพงมาก่อนในปี 2543 แล้วกลับมาได้ใช้ยาดังกล่าวในสัดส่วนค่อนข้างต่ำ (1-5%) ยกเว้น Proton pump inhibitors (10-13%), Inhaled corticosteroids (17-31%), และ Statins (31-41%) ในขณะที่กลุ่มสวัสดิการข้าราชการมีสัดส่วนที่สูงกว่ามาก (4-31% สำหรับยากลุ่มแรก และ 23-37% สำหรับยากลุ่มหลัง) ในด้านปริมาณการใช้ยา จำนวนผู้ป่วยซึ่งได้รับการสั่งใช้ยาคิดเป็นปริมาณรวมตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ในรอบปี 2545 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปี 2543 แต่ลดลงจากปี 2544 ในยาทุกประเภท อย่างไรก็ตาม สำหรับยาใหม่หรือยาราคาแพง ผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับการสั่งใช้ยาในปริมาณรวมต่อปีน้อยกว่าผู้ป่วยที่ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งตรงข้ามกับลักษณะการสั่งใช้ยาในกลุ่มข้อบ่งใช้เดียวกันที่ไม่ใช่ยาใหม่หรือยาราคาแพง