บทคัดย่อ
โครงการวิจัยนี้ เป็นโครงการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลของการใช้วิธีการ Collaborative Quality Improvement ในการป้องกันปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ (VAP) ในหออภิบาลผู้ป่วยของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 18 แห่ง ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2546 – เดือนมิถุนายน 2548 การดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ การประเมินและพัฒนาระบบเฝ้าระวัง VAP การประยุกต์ใช้วิธี Collaborative Quality Improvement ในการป้องกัน VAP และการประเมินผลการดำเนินงานโครงการ กิจกรรมในโครงการประกอบด้วย การประเมินสถานการณ์การเฝ้าระวัง VAP การประชุมเชิงปฏิบัติการโรงพยาบาลในโครงการ 18 แห่ง 2 ครั้ง และการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับโรงพยาบาลในแต่ละภาค ภาคละ 2 ครั้ง รวม 6 ครั้ง การสัมภาษณ์และการส่งแบบสอบถามให้บุคลากรของโรงพยาบาลตอบด้วยตนเอง ผลการวิจัยพบว่า แนวโน้มของการเกิด VAP ของโรงพยาบาล 18 แห่งในภาพรวมลดลง ค่าใช้จ่ายยาต้านจุลชีพที่ใช้ในการศึกษา VAP ลดลง แต่อัตราผู้ป่วย VAP ที่เสียชีวิตยังไม่เปลี่ยนแปลงชัดเจน บุคลากรของโรงพยาบาลส่วนใหญ่เห็นว่าวิธีการนี้ใช้ได้ผลกับโรงพยาบาล ช่วยให้ได้แนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ก่อให้เกิดการทำงานเป็นทีม บุคลากรมีความรู้เกี่ยวกับ VAP มากขึ้น เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ การดำเนินงานโครงการประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของการดำเนินงานประกอบด้วย ปัจจัยด้านบุคลากร ด้านทรัพยากร และด้านกระบวนการการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า วิธีการ Collaborative Quality Improvement สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนได้ แต่อย่างไรก็ตามยังมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามว่า ผลการดำเนินงานจะยั่งยืน และสามารถนำไปขยายผลในหน่วยงานอื่นๆ ของโรงพยาบาลได้เพียงใด