บทคัดย่อ
ในอดีตช่วงสั้นๆ ที่ผ่านมาชุมชน/เครือข่ายได้มีการรวมตัวกันดําเนินกิจกรรมเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ของตนเองมาตั้งแต่ ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาสิบปี มีจํานวนเครือข่ายประมาณ 300 เครือข่าย ครอบคลุมพื้นที่ 6,000กว่าหมู่บ้าน/ชุมชน (เฉพาะเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)) พบว่าผลการทำงานที่เกิดขึ้นจริงและมีงานศึกษาวิจัยและถอดองค์ความรู้ที่สามารถทำให้ชุมชนมีความตระหนักต่อปัญหายาเสพติดและลุกขึ้นมาดําเนินกิจกรรมเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ของตนเองและเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนได้ ประกอบกับที่รัฐบาลได้มีนโยบายที่เฉียบขาดและเอาจริงกับการต่อสู้เพื่อเอาชนะปัญหายาเสพติด ส่งผลให้สถานการณ์ปัญหายาเสพติดในขณะนี้ลดลง แต่ประเด็นที่สําคัญคือ จะทําอย่างไรที่จะไม่ให้ปัญหายาเสพติดกลับมาได้อีก ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นองค์องค์ภาครัฐ ภาคประชาชนที่จะลุกขึ้นมาดําเนินการกับบางเรื่องที่ยังต้องรีบแก้ไขอย่างเช่น การสร้างระบบเฝ้าระวัง หรืองานพัฒนาด้านอาชีพ หรือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น ด้วยความเป็นมาข้างต้นจึงมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรเยาวชนในพื้นที่ภาคกลาง (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย 300 เครือข่าย) และเกิดเป็น “สหพันธ์เยาวชนภาคกลาง (Federal Youth Of Central : FYC)” ภายใต้การกระตุ้นและสนับสนุนจากสำนักงานป.ป.ส. ร่วมมือกับเครือข่ายพลังแผ่นดิน ของแต่ละจังหวัดและกลุ่มเยาวชนของทุกจังหวัด โดยดําเนินกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ชุมชน/สถานศึกษาของตนเอง มีลักษณะเนื้อหาและรูปแบบกิจกรรมเป็นไปตามลักษณะเฉพาะของพื้นที่และทักษะความชำนาญของบุคลากร แต่จากการดําเนินงานที่ผ่านมายังเป็นไปในแบบต่างคนต่างทำมีการประสานงานและการเรียนรู้ระหว่างพื้นที่จังหวัดต่างๆ ค่อนข้างน้อย ดังนั้น คณะศึกษาวิจัยจึงได้มีแนวทางการศึกษาผลสัมฤทธิ์อันเป็นจังหวะก้าวของการทํางานเครือข่ายเยาวชนด้วยความมุ่งหวังที่จะนำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการทำงาน กิจกรรม และการพัฒนาศักยภาพของแกนนําเยาวชนเพื่อสามารถก่อเกิดแรงขับเคลื่อนอย่างยั่งยืนต่อไป