บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการสร้างเครื่องมือเพื่อประเมินคุณภาพการดูแลรวมทั้งผลลัพธ์ในผู้ป่วยโรคหืดที่เป็นผู้ใหญ่ โดยทำการวิจจัยเป็น 3 ช่วง ช่วงที่ 1 เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อหาภาระโรคตลอดจนปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพการดูแลในมุมมองของผู้ป่วยซึ่งจะนำข้อมูลมาเป็นพื้นฐานสำหรับงานวิจัยในช่วงที่ 2 และช่วงที่ 3 โดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วยโรคหืดในเขตอําเภอเมือง ประจวบคีรีขันธ์ จํานวน 61 คน พบว่าผลกระทบของโรคหืดที่มีต่อผู้ป่วยมี 4 ด้านคือผลกระทบทางด้านร่างกายและจิตใจ ผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ ผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและผลกระทบต่อชีวิตคู่ คุณภาพการดูแลที่ผู้ป่วยต้องการคือการหายขาดจากอาการของโรคหืด การศึกษาในช่วงที่ 2 เป็นการสร้างเครื่องมือโดยการใช้เทคนิคเดลฟายจํานวน 2 รอบ โดยผู้เชี่ยวชาญโรคหืดที่เป็นกรรมการของสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย จํานวน 20 และ 9 คน ตามลําดับ ได้เครื่องชี้วัดคุณภาพการดูแลโรคหืด จํานวน 16 ข้อ ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 มิติคือ ความเหมาะสมของการใช้ยาจํานวน 7 ข้อ, การให้ความรู้และคําแนะนําแก่ผู้ป่วยจำนวน 5 ข้อ, การควบคุมปัจจัยที่ทำให้โรครุนแรงขึ้นจํานวน 2 ข้อ, และการตรวจร่างกาย,สมรรถภาพปอดและการติดตามการดำเนินโรคจำนวน 2 ข้อ เครื่องมือได้ผ่านการทบทวนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และทดสอบการใช้ในผู้ป่วยโรคหืด ตลอดจนการทดสอบคุณสมบัติของเครื่องมือ (Psychometric properties testing) การศึกษาในช่วงที่ 3 เป็นการนําเครื่องมือที่ได้ไปประเมินคุณภาพการดูแลผู้ป่วยโรคหืด และผลลัพธ์ในผู้ป่วยโรคหืด 3 จังหวัด คือ ประจวบคีรีขันธ์ สุรินทร์และพิษณุโลก จํานวนรวม 183 คน ทำการเก็บข้อมูลตั้งแต่ มกราคม –พฤษภาคม 2549 พบว่าผู้ป่วยโรคหืดชนิดเรื้อรังได้รับยาพ่นสเตียรอยด์เฉลี่ยร้อยละ 44.5 โดยผู้ป่วยที่ได้รับยาพ่นดังกล่าวมากที่สุดคือจังหวัดสุรินทร์ รองลงมาคือพิษณุโลกและประจวบคีรีขันธ์ตามลำดับ สำหรับการให้ความรู้และคําแนะนําแก่ผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยในจังหวัดสุรินทร์มีคะแนนเฉลี่ยการทดสอบความรู้สูงที่สุดคือ 8.73+ 2.58 คะแนน รองลงมาเป็นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (6.99+ 1.89) และพิษณุโลก ตามลำดับ (6.35+ 3.25 ) สําหรับการวัดผลลัพธ์โดยใช้แบบสอบถามคุณภาพชีวิต Short-Form 36- Items Health Survey ของ The Medical Outcomes Study (MOS) ฉบับภาษาไทย พบว่าผู้ป่วยทั้ง 3 จังหวัดมีคุณภาพชีวิตต่างกันอย่างมีนัยสําคัญ (p มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับยาพ่นสเตียรอยด์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value =0.017 และ 0.022) นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาพ่นสเตียรอยด์มีโอกาสเสี่ยงต่อการเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยาพ่นสเตียรอยด์ 50% (95%CI 0.084-3.017) และ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยาพ่นสเตียรอยด์ 57%(95%CI 0.027- 6.8963)