บทคัดย่อ
โรงพยาบาลบ้านแพ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เป็นโรงพยาบาลของรัฐเพียงโรงพยาบาลเดียวที่ออกนอกระบบราชการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2543 โดยได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นองค์กรที่มีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่อำเภอบ้านแพ้ว แต่เนื่องจากหน่วยบริการปฐมภูมิในระดับพื้นที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับโดยตรงของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จึงส่งผลต่อความเป็นเอกภาพในการจัดการด้านสุขภาพในพื้นที่อำเภอบ้านแพ้ว เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กำหนดให้รัฐกระจายอำนาจการปกครองไปสู่องค์กรส่วนท้องถิ่น ทำให้มีแนวความคิดที่จะถ่ายโอนหน่วยราชการในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงสถานีอนามัยให้ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ เทศบาล ด้วยเหตุนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า สถานีอนามัยซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิควรสังกัดอยู่กับองค์กรใด ระหว่างหน่วยราชการ (สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ กระทรวงสาธารณสุข) โรงพยาบาลบ้านแพ้ว มหาชน ภายใต้การกำกับของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล) และรูปแบบการดำเนินการหรือความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยบริการต่างๆ ในระบบสุขภาพระดับอำเภอควรเป็นอย่างไร รวมทั้งระบบการกำกับดูแลระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอควรมีรูปแบบเป็นเช่นไร ด้วยเหตุนี้ การศึกษาวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาสังกัดที่เหมาะสมของหน่วยบริการปฐมภูมิของรัฐภายใต้รูปแบบ “ระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ” ที่สอดคล้องกับ “ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า” และ “แนวโน้มการกระจายอำนาจ” 2. ศึกษารูปแบบการดำเนินการและความสัมพันธ์ภายในของหน่วยบริการทางสุขภาพของรัฐในเขตอำเภอบ้านแพ้ว เพื่อให้ระบบสุขภาพระดับอำเภอมีการดำเนินการที่มีคุณภาพ 3. ศึกษาระบบการกำกับดูแลระบบบริการสุขภาพของอำเภอบ้านแพ้ว วิธีการศึกษาใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ 2 แบบคือ การสัมภาษณ์ส่วนบุคคลเชิงลึก (indepth interview) และการสนทนากลุ่ม (focus group discussion) พื้นที่ที่ศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูลจำนวน 12 ตำบลของอำเภอบ้านแพ้ว ซึ่งประกอบด้วยตำบลบ้านแพ้ว ตำบลคลองตัน ตำบลหลักสอง ตำบลหลักสาม ตำบลเจ็ดริ้ว ตำบลสวนส้ม ตำบลอำแพง ตำบลเกษตรพัฒนา ตำบลหนองสองห้อง ตำบลหนองบัว ตำบลยกกระบัตร และตำบลโรงเข้ โดยศึกษาจากประชากร 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้นำชุมชน (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกเทศมนตรี และประธานองค์การบริหารส่วนตำบล) รวม 53 ราย กลุ่มผู้บริหารโรงพยาบาล และผู้บริหารของรัฐและสถานีอนามัย รวม 6 ราย กลุ่มผู้บริหารของรัฐและหัวหน้าสถานีอนามัยรวม 21 ราย ผลการศึกษาต้นสังกัดที่เหมาะสมของสถานีอนามัยในประเด็นที่เกี่ยวกับทางเลือกของต้นสังกัดของสถานีอนามัยมี 3 ทางคือ สังกัดหน่วยราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว มหาชน นอกระบบราชการซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อจำกัดที่ควรคำนึงถึง ส่วนรูปแบบการดำเนินงานและความสัมพันธ์ภายในของหน่วยบริการในระบบสุขภาพ ผลการศึกษาความคิดเห็นมีต่อรูปแบบการดำเนินงานและความสัมพันธ์ภายในของหน่วยบริการต่างๆ ในระบบสุขภาพระดับอำเภอชี้แนะว่า การแบ่งงานระหว่างโรงพยาบาลบ้านแพ้วและสถานอนามัยควรมีความชัดเจน โดยโรงพยาบาลบ้านแพ้วควรมุ่งเน้นด้านการรักษา ส่วนสถานีอนามัยควรรับผิดชอบด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อน การจัดสรรงบประมาณควรอยู่ในรูปของเบี้ยเลี้ยงเพื่อการปฏิบัติงานภาคสนาม รวมทั้งสนับสนุนยานพาหนะและค่าใช้จ่ายสำหรับน้ำมันเชื่อเพลิงเพื่อการปฏิบัติงานด้วย สำหรับประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานนั้น โดยเฉพาะสัมพันธภาพของคณะบุคคลที่รับผิดชอบด้านการบริหารจัดการ ที่ยังคงพบว่ามีความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงขององค์กรหลายองค์กรที่รับผิดชอบงานด้านบริการสุขภาพของอำเภอบ้านแพ้ว นอกจากนี้ ยังมีการเสนอแนะให้องค์กรที่ความพร้อมด้านงบประมาณและอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างโรงพยาาบาลบ้านแพ้ว มีส่วนช่วยในการสนับสนุนด้านยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นแก่องค์กรอื่นๆ โดยเฉพาะสถานีอนามัย การกำกับดูแลระบบบริการสุขภาพของอำเภอบ้านแพ้ว ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่ามีความไม่สอดคล้องกันระหว่างผลการศึกษาจากการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม ทั้งนี้เพราะในการสัมภาษณ์เชิงลึกมีผู้นำชุมชนเป็นจำนวนมากที่มีความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งคณะกรรมการหรือหน่วยงานขึ้นมากำกับดูแลระบบบริการสุขภาพของอำเภอบ้านแพ้วเป็นการเฉพาะ ในขณะที่ในการสนทนากลุ่ม 3 กลุ่มนั้น มีกลุ่มของการสนทนาเพียงกลุ่มเดียวที่มีความเห็นสอดคล้องกับเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้โดยเหตุผลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกและจากการสนทนากลุ่มกล่าวเป็นเหตุผลที่ใกล้เคียงกัน