บทคัดย่อ
ประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการใช้สารเคมีภาคเกษตรกรรมจากกลุ่มตัวอย่างคือ พื้นที่ปลูกผักเชิงธุรกิจ หมู่ 10, 11 พื้นที่ปลูกผักบริเวณบ้านหมู่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 8 และพื้นที่ปลูกผักน้อยหรือไม่ปลูกผักหมู่ 7, 9, 12, 13 เมื่อพิจารณาจากระบบสารเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) มีแนวโน้มการขยายตัวของพื้นที่ปลูกผักเพิ่มขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงทั้งชนิดและปริมาณการใช้สารเคมีสูง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม วงจรการไหลของสารเคมีในพื้นที่พบว่าหาซื้อได้ง่ายมีขายทั่วไป จากการใช้แบบสอบถามและการฝึกอบรมแผนที่ทางสุขภาพ (body Mapping) พบว่ามีสารเคมีจำนวน 49 ชนิดจำแนกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ สารในกลุ่มอื่นๆ (62%) รองลงมา คือ ออร์แกโนฟอสเฟต (16%),ไพรีทรอยด์ (8%), ไธโอคาร์บาเมท (6%), คาร์บาเมท (6%) , พาราควอท (2%) เมื่อจำแนกตามระดับความเป็นพิษของสารเคมีพบว่า พิษปานกลางพบมากที่สุด (27%) รองลงมา ได้แก่ พิษน้อย (21%) พิษรุนแรง (8%) พิษรุนแรงมาก (3%) จนถึงไม่จำแนกระดับความเป็นพิษ (41%) ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกายใน 8 กลุ่มอาการเบื้องต้น คือ 1) ปวดศีรษะ คลื่นไส้ 2) ปวดเกร็งที่หน้าท้อง คลื่นไส้ อาเจียน 3) กล้ามเนื้อกระตุกหรือเกร็ง 4) กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา 5) สายตาพร่ามัว น้ำตาไหล 6) แน่นหน้าอก หายใจติดขัด 7) หน้ามืด หมดสติ 8) อาการผื่นคัน หรือเป็นโรคผิวหนัง โดยพบว่า อาการปวดศีรษะ คลื่นไส้เป็นอาการที่พบมากที่สุด ผลการฝึกอบรมแผนที่ทางสุขภาพพบว่า พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประชากรกลุ่มเสี่ยงคือเด็ก ได้แก่ การจัดเก็บและการทิ้งทำลายภาชนะบรรจุสารเคมี ผลกระทบต่อสุขภาพด้านมิติทางจิต ทางสังคม ได้แก่ ความวิตกกังวลจากการอยู่อาศัยในบริเวณที่ปลูกผัก ความหวาดระแวง และความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรที่มาจากต่างถิ่นกับเกษตรกรที่เป็นผู้อยู่อาศัยมาแต่เดิม ผลกระทบด้านจิตวิญญาณเรื่องความภูมิใจในอาชีพเกษตรกรที่ลดลง ด้านเครือข่ายของเกษตรกรในพื้นที่พบว่ามีความพยายามรวมตัวเพื่อปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ แต่เนื่องจากการขาดความสามัคคี ผู้นำกลุ่มที่ไม่เข้มแข็ง และความต้องการในการประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ทำให้แต่ละกลุ่มมีแนวคิดที่แตกต่างกัน ขาดการประสานงาน ไม่มีการสร้างระบบเครือข่ายระหว่างองค์กร ต่างกลุ่มต่างทำจึงเกิดความล้มเหลวในการดำเนินงาน ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผลผลิต(output) ที่สำคัญจากการวิจัยครั้งนี้คือเวทีร่วมของเกษตรกรในพื้นที่และต่างถิ่น ในการร่วมกันตั้งปณิธานของการปลูกผักคือ พืชผักปลอดสารพิษ ชีวิตปลอดภัย ถูกสุขอนามัย ปลอดภัยสิ่งแวดล้อม การประสานเครือข่ายภายใต้ชื่อ กลุ่มผู้ผลิตผักปลอดสารพิษ และมีผลลัพธ์ (outcome) ที่สำคัญคือ การจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรชื่อ โรงเรียนเรียนรู้การเกษตรบางเหรียง และการรวมตัวของเกษตรกรในพื้นที่เป็นสมัชชาสุขภาพชุมชนปลูกผักบางเหรียง และกลุ่มเกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนใช้สารเคมีน้อยลงภายใต้ข้อเสนองานวิจัยอย่างต่อเนื่อง อันจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญและนำไปสู่การแก้ปัญหาการใช้สารเคมีภาคเกษตรกรรมในพื้นที่บางเหรียงอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป