บทคัดย่อ
การคลังเพื่อการส่งเสริมสุขภาพการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อแสดงภาพปริมาณรายจ่ายรวม รายจ่ายต่อหัวประชากรและรายจ่ายที่เป็นสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product)ที่จ่ายในกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ทั้งที่จ่ายโดยภาครัฐและครัวเรือน ในปี 2535 2537 และ 2539 รวมถึงการวิเคราะห์แนวโน้มรายจ่ายเพื่อการนี้ ผู้วิจัยได้วิเคราะห์รายจ่ายครัวเรือนเพื่อบริโภคสินค้าที่เป็นโทษต่อการมีสุขภาพดีกับรายจ่ายในการบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพไว้อย่างน่าสนใจ วิธีการศึกษาเป็นการวิจัยเอกสาร ฐานข้อมูลภาครัฐในส่วนที่เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี ข้อมูลงบประมาณโดยสังเขปกรุงเทพมหานคร และงบเทศบาลจากเทศบัญญัติ ในส่วนของครัวเรือนใช้ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม(Socio Eonomic Survey, SES) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นฐานข้อมูลในส่วนของภาคเอกชน การศึกษานี้ไม่รวมการลงทุนเพื่อการส่งเสริมสุขภาพในภาคธุรกิจผลการศึกษาพบว่า ในปี 2535 ประเทศไทยมีรายจ่ายเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ 17,774 ล้านบาท โดยร้อยละ 73 หรือ 13,075 ล้าน ครัวเรือนเป็นผู้จ่าย ภาครัฐจัดสรรงบเพื่อการนี้ 4,699 ล้านบาท ในจำนวนนี้กระทรวงสาธารณสุขมีส่วน 3,890 ล้านบาท ในส่วนของการควบคุมป้องกันโรค 28,735 ล้านบาท ครัวเรือนจ่าย 23,234 ล้านบาท หรือร้อยละ 80 ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขรับภาระ 2,981 ล้านบาท หรือร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือเป็นหน่วยงานอื่นนอกกระทรวง กทม. และเทศบาล สำหรับรายจ่ายที่เกี่ยวกับการสาธารณสุขมูลฐาน การควบคุมป้องกันสารเสพติด และการคุ้มครองผู้บริโภค มีสัดส่วนน้อยและจัดสรรโดยกระทรวงสาธารณสุขและ กทม. และเทศบาล โดยสรุปภาพรวมการคลังเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ในปี 2535 จึงมีค่าใช้จ่าย 49,951 ล้านบาท ร้อยละ 57 หรือ 28,735 ล้านเป็นการควบคุมป้องกันโรค ในขณะที่มีรายจ่ายเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ 17,774 ล้านบาท หรือร้อยละ 35 เป็นงบดำเนินการ 47,724 ล้านบาท และงบลงทุนโดยภาครัฐ 2,227 ล้านบาท ในปี 2537 ปละ 2539 ตัวเลข การคลังเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ เป็น 65,873 ล้านบาท และ 81,245 ล้านบาท ตามลำดับ ในจำนวนนี้ ครัวเรือนรับภาระ ในรายจ่ายเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรค รวม 44,291 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67 ในปี 2537 และ 51,301 ล้านบาท หรือร้อยละ 63 ในปี 2539 ส่วนที่เหลือเป็นภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข 13,205 ล้าน ในปี 2535 และ 19,480 ล้านบาท ในปี 2539 กระทรวงอื่น กทม. และเทศบาลมีส่วน 8,376 ล้าน ซึ่งในปี 2537 ค่อนข้างสูงเนื่องจากเริ่มโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียนของกระทรวงศึกษา และในส่วนนี้เทศบาลรับภาระค่อนข้างมาก ในเรื่องการควบคุมป้องกันโรค คือประมาณ 2,532 ล้าน ใน 4,594 ล้านที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนที่เป็นเทศบาลทั้งหมด สำหรับปี 2539 กระทรวงอื่นนอกกระทรวงสาธารณสุขจัดสรร งบเพื่อการส่งเสริมสุขภาพป้องกันควบคุมโรค 5,131 ล้าน เทศบาลต่าง ๆ รวม กทม.5,531 ล้านบาท โดยเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประเทศไทยมีงบ การคลังเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ คิดเป็นร้อยละ 1.7 ในปี 2535 ร้อยละ 1.8 ในปี 2537 และร้อยละ 3.2 ในปี 2539 (GDP ประมาณการค่อนข้างต่ำในปี 2539 ทำให้สัดส่วนการคลังสูงในปีนี้) แต่ถ้าดึงเฉพาะตัวเลขค่าใช้จ่ายเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ พบว่า มีสัดส่วนต่อ GDP สำหรับแต่ละปี ดังนี้ คือ 0.6 เท่ากันในปี 2535 และ 2537 และ 0.9 ในปี 2539 แนวโน้ม การคลังเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ในช่วงเวลาที่ศึกษามีแนวโน้มสูงขึ้นโดย ปี 2535 เป็น 45,951 ล้านบาท เพิ่มเป็น 65,873 ล้าน และ 81,245 ล้านบาทในปี 2537 และ 2539 ตามลำดับ ถ้าพิจารณาในรายละเอียด พบว่า สัดส่วนสูงสุดเป็นการควบคุมและป้องกันโรค กว่าร้อยละ 50 ในขณะที่มีแนวโน้มลดลงในช่วง 3 ปี คือ จากร้อยละ 57 ในปี 2535 เป็นร้อยละ 54 และ ร้อยละ 53 ใน 2537 และ 2539 ในขณะที่การส่งเสริมสุขภาพมีสัดส่วนเป็นลำดับที่ 2 และแนวโน้มค่อนข้างคงที่อยู่ที่ร้อยละ 35 เปรียบเทียบต่อหัวประชากร การคลังเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ต่อหัวประชากรปี 2535 คิดเป็น 864 บาท ในขณะที่ ปี 2537 เพิ่มขึ้นเป็น 1,114 บาท และ 1,345 บาท ในปี 2539 ทำนองเดียวกันถ้าเปรียบเทียบเฉพาะด้านการส่งเสริมสุขภาพ พบว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ เป็น 307 บาท ในปี 2535 และ 397 บาท ในปี 2537 และในปี 2539 เป็น 473 บาท ทั้งนี้ควรคำนึงด้วยว่า การส่งเสริมสุขภาพที่กล่าวนี้ มีครัวเรือนเป็นผู้ใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมสุขภาพกว่าร้อยละ 70 การสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจรายจ่ายครัวเรือนทั้งที่เป็นรายจ่ายเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ และบริโภคสินค้าที่เป็นโทษต่อสุขภาพ การศึกษานี้พบว่า ในปี 2535 ครัวเรือนมีการบริโภคสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ 36,310 ล้านบาท ในขณะที่บริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 51,928 ล้านบาท และในปี 2537 รายจ่ายที่ส่งเสริม 44,291 ล้านบาท และ 51,301 ล้านบาท ในปี 2539 ในขณะที่บริโภคสินค้าทำลายสุขภาพลดลง ในปีเหลือ 41,747 ล้านบาท ในปี 2537 และเพิ่มเป็น 73,459 ล้าน ในปี 2539 ถ้าคิดเป็นต่อครัวเรือนต่อเดือน พบว่า ครัวเรือนมีการบริโภคสินค้าส่งเสริมสุขภาพเดือนละ 201 บาท ในปี 2535 เพิ่มเป็น 233 บาท ในปี 2537 และ 260 บาท ในปี 2539 ในขณะที่บริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 266 บาท ในปี 2535 และ 202 บาท ต่อเดือนต่อครัวเรือนในปี 2537 และเพิ่มการบริโภคในสินค้าที่เป็นโทษต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นเป็น 343 บาทในปี 2539