บทคัดย่อ
ในยุคที่กระแสการปฏิรูประบบสุขภาพยังมาแรง หลายคนมองว่าการกระจายอำนาจด้านสุขภาพจะเป็นนโยบายหนึ่งที่จะส่งผลต่อการปฏิรูประบบสุขภาพมากที่สุด และด้วยปัจจัยสนับสนุนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หลายคนก็คาดเดาว่าการเปลี่ยนแปลงภายใต้นโยบายการกระจายอำนาจด้านสุขภาพจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพก่อนนวัตกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพอื่นใด จนถึงปัจจุบันเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากของระบบบริการสุขภาพ ผ่านการจัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 การจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี พ.ศ.2544 ได้ดึงการมีส่วนร่วมของภาคีส่วนต่างๆ เข้ามาทำงานสร้างเสริมสุขภาพกันอย่างขยันขันแข็งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ขึ้นในปี 2550 หลังจากทำงานขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับหน่วยงานและภาคประชาสังคมต่างๆ อย่างต่อเนื่องมานาน ก่อให้เกิดกลไกและกระบวนการนโยบายใหม่ที่เน้นการมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่หากหันเหลียวมามองนโยบายกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมเท่าที่เห็นคือ การถ่ายโอนสถานีอนามัยจำนวน 20 กว่าแห่ง จากทั้งหมดเกือบ 1 หมื่นแห่งให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ไม่ได้คิดว่าความหมายของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพจำกัดอยู่เพียงแค่การถ่ายโอนสถานพยาบาลของรัฐให้ไปอยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่การเดินทางอย่างต่อเนื่องยาวนานของนโยบายการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ โดยรวมที่กล่าวได้ว่ามีความคืบหน้าไม่มากนัก นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการพัฒนาระบบสุขภาพไทยที่ควรได้มีการทบทวน สรุปบทเรียน บันทึกไว้ให้ผู้คนได้ใช้เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพที่ดีขึ้นต่อไป สวรส.จึงได้มอบหมายให้นักวิชาการจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจด้านสุขภาพและการถ่ายโอนสถานพยาบาลให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาตั้งแต่ต้น ได้ทบทวน วิเคราะห์ และสรุปบทเรียนการกระจายอำนาจด้านสุขภาพขึ้น โดยครอบคลุมตั้งแต่แนวคิด พัฒนาการของนโยบายและการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ ตลอดจนทัศนะของผู้คนที่เกี่ยวข้องและในท้ายที่สุด ข้อเสนอสำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป เอกสารฉบับนี้กล่าวได้ว่า เป็นเอกสารที่รวบรวมรายละเอียดทั้งหลายทั้งปวงเกี่ยวกับการกระจายอำนาจด้านสุขภาพไว้มากที่สุดฉบับหนึ่ง สามารถทำให้ผู้อ่านเห็นภาพและได้เรียนรู้อย่างรอบด้านจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หวังว่าเอกสารฉบับนี้จะช่วยสนับสนุนให้การเคลื่อนไหวเพื่อการกระจายอำนาจด้านสุขภาพระยะต่อไป มีความคืบหน้าและนำไปสู่การมีระบบสุขภาพที่ตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่นและชุมชนมากขึ้น