บทคัดย่อ
ในปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว้างไกลขึ้นมาก ทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบายขึ้นแต่ก็ทำให้เกิดการใช้สารเคมี และมีการทำลายสมดุลของระบบสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยามากขึ้น ส่งผลให้กระทบต่อการบริโภคและอาหารของประชาชนตามมา ภาครัฐและเอกชนจึงเริ่มให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังอาหารให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น ดังนั้นรายงานนี้จึงเป็นการรวบรวมรายงานการวิจัยด้านความปลอดภัยทางด้านอาหารตั้งแต่ พศ.2543-2549 สรุปเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยแบ่งอันตรายที่มีจากการปนเปื้อนอาหารเป็นประเภทใหญ่ ๆ 3 ชนิด
อันตรายทางกายภาพได้แก่ กระบวนการผลิตมีการควบคุมไม่ดีมีการปนเปื้อนของวัสดุในการผลิต ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ซึ่งพบรายงานการตรวจเจออันตรายทางกายภาพน้อย ที่ตรวจพบได้แก่ แมลง มด ขนแมลง เป็นต้น ซึ่งไม่เกินเกณฑ์กำหนดของ US.FDA
อันตรายทางเคมี ได้แก่ การใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในอาหาร พบว่า ผักสดธรรมดาและผักสดปลอดสารเคมี พบสารเคมีที่เป็นสารจำกัดแมลง ไม่แตกต่างกัน โดยสารเคมีที่พบมากได้แก่ cypermethrin, endosulfan, methamidophos และ methomyl โดยถั่วฝักยาวพบสารตกค้างมากที่สุด รองลงมาคือผักคะน้า ผักกวางตุ้ง สำหรับผลไม้พบว่าส้มเขียวหวานตรวจพบสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างมากที่สุด และจากการวิเคราะห์อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทพบว่า มีการตรวจพบสารกำจัดแมลงและสารอื่นๆ ในเครื่องดื่มชาเขียว น้ำแครอท พบปริมาณการปนเปื้อนของสาร endosulfan ในน้ำประปาและน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาในปริมาณที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยต่อการบริโภค ส่วนปริมาณโลหะทั้ง 4 ชนิด ปรอท ตะกั่ว แคดเมี่ยม สารหนู ส่วนใหญ่พบในหอยและกุ้ง โดยค่าที่คนไทยได้รับจากการบริโภคอาหารต่อวันในปริมาณที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยในต่อการบริโภคเช่นกัน นอกจากนี้พบปัญหาสารตกค้าง ออกซีเตตราชัยคลิน เตตราชัยคลิน และคลอเตตราชัยคลินในกุ้ง และตรวจพบสารฮีสตามีนในปลาทูน่า สารเบตาอะโกนิสต์ในเนื้อหมู รวมทั้ง สาร 3-MCPD ในซอสปรุงรส
อันตรายทางชีวภาพได้แก่ พวกเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคต่าง ๆ โดยพบการปนเปื้อนของ Listeria spp. ในตัวอย่างไก่สดมากกว่าผลิตภัณฑ์จากไก่ พบการปนเปื้อนของ Coliforms, Escherichia coli, Staphylococcus aureus และ Salmonellae ในเนื้อสุกร