บทคัดย่อ
การศึกษาผลของการมียาสามัญ(generic products) จำหน่วยในประเทศไทยต่อค่าใช้จ่ายด้านยาของโรงพยาบาล เฉพาะกรณียาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาภายใต้หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนตำรับยาใหม่ พ.ศ.2533 จำนวน 10 รายการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ 3 ตัว คือ ฟลูโคนาโซล โคลซาปีน และออนแดนซีตรอน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ได้จัดส่งแบบสอบถามไปยังโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 292 แห่ง เพื่อเก็บข้อมูลเชิงปริมาณและมูลค่าการจัดซื้อยาต้นแบบ (generic products(original products) และยาสามัญได้รับแบบสอบถามกลับจากโรงพยาบาล 166 แห่ง (ร้อยละ 56.9)
พบว่า ในช่วงเวลา 2 ปีแรกที่มียาสามัญของยาเหล่านี้จำหน่ายในประเทศ (พ.ศ.2542 ถึง พ.ศ.2543) ราคาต่อหน่วยของยาสามัญที่โรงพยาบาลจัดซื้อต่ำกว่าราคาต่อหน่วยของยาต้นแบบรายการเดียวกันดัชนีความแตกต่างของราคายาต้นแบบมีค่าตั้งแต่ 1.6 ถึง 9.9 และ 2.1 ถึง 10.9 ในปี พ.ศ.2542 และ พ.ศ.2543 ตามลำดับ
เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยาสามัญมีราคาต่ำกว่ายาต้นแบบประกอบกับโรงพยาบาลได้นำยาสามัญไปใช้แทนยาต้นแบบเป็นบางส่วน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของโรงพยาบาลลดลงรวม 216.6 ล้านบาท(71.5 ล้านบาทในปี พ.ศ.2542 และ 145.1 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2543) หากโรงพยาบาลใช้ยาสามัญทดแทนยาต้นแบบทั้งหมด คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านยาที่ประหยัดได้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะมีมูลค่ารวม 251.9 ล้านบาท นอกจากนี้ ปริมาณการจัดซื้อยาบางชนิดที่เพิ่มขึ้น แสดงว่าผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาเหล่านี้ได้มากขึ้น
การที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านยาของโรงพยาบาล และเพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วยให้มากกว่าที่เป็นอยู่นั้นจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการแข่งขันด้านราคาระหว่างผลิตภัณฑ์ยาต้นแบบและยาสามัญ รวมทั้งกระตุ้นให้โรงพยาบาลใช้ยาสามัญทดแทนยาต้นแบบมากขึ้น