บทคัดย่อ
นับตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุขภายใต้การนำของ นายแพทย์มงคง ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และทีมงาน ได้ตัดสินใจทางนโยบายที่สำคัญตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งได้ไม่นานในการใช้สิทธิกับสิทธิบัตรยา เพื่อเปิดประตูให้สามารถจัดหายาที่เชื่อถือได้ในคุณภาพแต่ราคาถูกกว่ามาก มาให้บริการประชาชนตามพันธกรณี ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้สนองนโยบายด้วยการประกาศใช้สิทธิกับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวแรก คือ ยาเอฟาไวเรนซ์ (Efavirenz) เพื่อนำมาให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของตัวยาหนึ่งที่ประกอบเป็นยาสูตรพื้นฐาน คือ ยาจีพีโอเวียร์ (GPO vir) และต่อมาได้มีการประกาศใช้สิทธิกับยาอีก 2 ชนิด คือ ยาสูตรผสมโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (Lopinavir-Ritonavir) สำหรับผู้ป่วยเอดส์ที่ดื้อยาสูตรพื้นฐานและยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ซึ่งใช้ละลายลิ่มเลือด ในผู้ป่วยโรคหัวใจ ประเทศไทยก็ได้ถูกจับตาอยู่ท่ามกลางปปอตไลท์ในเวทีโลกอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกัน แน่นอนการตัดสินใจดำเนินนโยบายเรื่องนี้ของไทย ย่อมได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ โดยดอกไม้มาจากผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยโรคหัวใจและประชาชนทั่วไป ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่จากทั่วโลก มีบุคคลและหน่วยงานต่างๆ มากมายในต่างประเทศ ทั้งองค์การระหว่างประเทศ องค์กรเอกชน และนักวิชาการ ต่างได้แสดงทัศนะในการสนับสนุนนโยบายของไทย ขณะเดียวกันก็มีการตอบโต้จากบริษัทยาทั้งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและที่กลัวว่าจะโดนผลกระทบ รวมทั้งบรรดาปากกระบอกเสียงต่างๆ ได้ออกมาโจมตีอย่างต่อเนื่อง บางครั้งรุนแรงมากอย่างกรณีของยูเอสเอฟอร์อินโนเวชั่น (USA for Innovation) เป็นต้น เอกสารของทั้งบุคลล องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ที่ยืนยันความถูกต้องของการดำเนินการของประเทศอย่างหนักแน่นนับว่ามีคุณค่าสมควรรวบรวมไว้ ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งที่สามารถใช้อ้างอิงได้โดยสะดวก และเป็นการบันทึกประวัติสำคัญหน้าหนึ่งในประเทศไทย น่ายินดีที่มีผู้เขียนซึ่งใช้นามปากกา นายศาสตรา ได้ทำหน้าที่คัดสรรเอกสารเหล่านี้ แล้วนำมาแปลเป็นภาษาไทยพร้อมกับเสนอทัศนวิจารณ์ และนำเสนอข้อมูลของบุคคล หน่วยงาน และองค์กรที่เป็นเจ้าของเอกสารเหล่านี้ ตีพิมพ์เผยแพร่ในคอลัมภ์ ส่องสถานการณ์ ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ มาอย่างต่อเนื่องรวม 24 ชิ้น เอกสารเหล่านี้ย่อมเป็นประโยชน์โดยเฉพาะสำหรับผู้อ่านจำนวนมากที่ไม่สันทัดภาษาอังกฤษ ซึ่งบทความส่วนใหญ่มีศัพท์สำนวนเฉพาะทั้งทางกฎหมายและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้เข้าใจได้ยาก อย่างไรก็ดี คำแปลเอกสารเหล่านี้ทั้งหมดต้องถือว่าเป็นคำแปลที่ไม่เป็นทางการ ผู้อ่านควรเปรียบเทียบกับต้นฉบับภาษาอังกฤษที่นำมาตีพิมพ์ไว้ในภาคผนวกแล้ว เอกสารนี้ตั้งชื่อว่า จดหมายเหตุการณ์ใช้สิทธิกับสิทธิบัตรยาของประเทศไทย เพื่อเป็นบันทึกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การสาธารณสุขไทย เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการสาธารณสุขไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต