บทคัดย่อ
การเปลี่ยนแปลงอัตราการเจ็บป่วยของประชาชนไทยและต้นทุนสถานพยาบาลระดับต่างๆ เป็นแรงกดดันให้มีการปรับอัตราเหมาจ่ายรายหัวในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปีงบประมาณ 2546 ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ในเชิงวิชาการ สำหรับการกำหนดอัตราเหมาจ่ายรายหัวปี 2546 โดยใช้กรอบการคำนวณอัตราเหมาจ่ายปีงบประมาณ 2545 เป็นหลัก และใช้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมากที่สุดได้แก่ การสำรวจอนามัยสวัสดิการปี พ.ศ.2544 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ต้นทุนสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชนปีงบประมาณ 2544 อ้างอิงชุดสิทธิประโยชน์โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและแนวทางการตรวจสุขภาพประชาชนไทยของแพทยสภา การศึกษานี้ดำเนินการในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2545 ผ่านการทำงานของคณะกรรมการพิจารณาต้นทุนอัตราเหมาจ่ายต่อรายหัวประชากร และการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและเอกชน โดยคณะวิจัยเป็นเลขานุการวิชาการของคณะกรรมการฯ
ผลการศึกษาพบว่าอัตราเหมาจ่ายรายหัวปีงบประมาณ 2546 เท่ากับ 1,414 บาท โดยมีองค์ประกอบของอัตราเหมาจ่ายรายหัวสำหรับบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก 618 บาท บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน 469 บาท บริการทันตกรรมประดิษฐ์ 2.31 บาท บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับบุคคล 206 บาท บริการการแพทย์ฉุกเฉิน 10 บาท การลงทุนเพื่อทดแทนครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง 109 บาท อัตราเหมาจ่ายรายหัว 1,414 บาทในปี 2546 นี้ สูงกว่าปี 2545(1,202 บาท) เท่ากับ 212 บาทต่อคนคิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 17.6 ทำให้รัฐบาลมีภาระงบประมาณสำหรับโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มจากปีงบประมาณ 2545 เท่ากับ 9,540 ล้านบาท