บทคัดย่อ
โครงการศึกษาสรุปบทเรียนและติดตามผลการพัฒนาระบบถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติไปเทศบาลตำบลวังศาลา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรีได้ดำเนินงานโดยใช้การศึกษาบริบทของพื้นที่เพื่อศึกษาถึงสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพที่ทำมาก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบัน แล้วจึงใช้การสัมภาษณ์รายบุคคล และสัมภาษณ์กลุ่มเฉพาะถึงกระบวนการระหว่างการถ่ายโอน ฯ กับผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้รับบริการ หัวหน้าสถานีอนามัย เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์แผนและนโยบายของเทศบาล สาธารณสุขจังหวัด ปลัดเทศบาล นายกเทศมนตรี ท้องถิ่นจังหวัด จัดทำสัมภาษณ์กลุ่มรองนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล โดยมีคำถามหลักๆ ที่ใช้ในการสัมภาษณ์ เช่น แนวคิดต่อเรื่องการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ ความรับผิดชอบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ประโยชน์จากการถ่ายโอน ฯ สิ่งที่ดำเนินงานด้านสาธารณสุข คณะทำงานได้ใช้แบบสอบถามสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้เสียจำนวน 364 คน นำผลการสัมภาษณ์มาสรุป ก่อนจะเขียนรายงานได้ดำเนินการกระบวนการ AAR (After Action Review) กับกลุ่มต่างๆ ข้างต้น กระบวนการดังกล่าวมาได้ข้อสรุป คือ ก่อนการดำเนินการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ (วังศาลา) ไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลวังศาลา (ปัจจุบันเป็นเทศบาลวังศาลา) ทั้งสององค์กรมีการดำเนินงานร่วมกันมาก่อนโดยมีการสนับสนุนเงิน ปฏิบัติภารกิจด้านสุขภาพและอนามัยร่วมกัน อีกทั้งผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนตำบลแห่งนี้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จึงทำให้การรับถ่ายโอนเป็นไปด้วยความเต็มใจของทั้งสองฝ่าย และทั้งสองฝ่ายก็เข้าใจในภารกิจซึ่งกันและกัน ในส่วนชุมชนผู้รับบริการมักมารับบริการจากสถานีอนามัยในการปฐมพยาบาลจากอุบัติเหตุ การตรวจสุขภาพร่างกาย ดูและสุขภาพฟัน ส่วนประเด็นอื่นๆ แยกได้ ดังนี้ ระยะที่ 1 เมื่อรับการถ่ายโอนแล้วในระยะเริ่มต้นการจัดการที่ให้เป็นไปตามระเบียบทั้งเรื่องคน เงิน และงาน ยังไม่มีเอกสารคู่มือที่ชัดเจนทำให้การดำเนินงานต้องใช้การประสานงานและตัดสินใจภายใต้ความสัมพันธ์เดิมและรอความชัดเจน ระยะที่ 2 มีการจัดการระบบเรื่องของคน เงิน งานเริ่มเข้าที่ เจ้าหน้าที่อนามัยต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร ทางเทศบาลสนับสนุนอนามัยให้ดำเนินงานคล่องตัวขึ้น บุคลากรที่ถูกถ่ายโอนมีความสุขกับการปฏิบัติงานเพราะได้รับการสนับสนุน พนักงาน งบประมาณซึ่งเอื้ออำนวยความสะดวกในการเดินทางการให้บริการ รวมทั้งจัดทำแผนการดำเนินงานได้ครอบคลุมภารกิจของการบริการด้านสุขภาพและอนามัย ระยะที่ 3 เป็นระยะท้ายของการศึกษาพบว่าการให้บริการและผู้บริการเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายมีแนวโน้มดีขึ้นในระดับดีมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการของสถานีอนามัยมีแผนที่ตรงกับท้องถิ่นทำให้การเข้าถึงพื้นที่มีมากกว่าเดิม และตรงตามความต้องการของประชาชน อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อน่าสังเกตและติดตามเพิ่มเติมอีก กล่าวคือ การพัฒนาความรู้และทักษะการดำเนินงานใหม่ๆ ของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย การให้คำปรึกษาจากนักวิชาการสาธารณสุข การพัฒนาของเทศบาลที่มุ่งหวังให้สถานีอนามัยพัฒนาไปสู่สถานพยาบาลของชุมซึ่งเป็นประเด็นที่ควรมีระบบสนับสนุนและระบบการวางแผนร่วมกันเชิงนโยบายต่อไป