บทคัดย่อ
การศึกษาสรุปบทเรียนการถ่ายโอนสถานีอนามัยให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามผลผลิต ผลที่ได้และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการถ่ายโอนสถานีอนามัยไปองค์การบริหารส่วนตำบลและเพื่อวิเคราะห์และสรุปบทเรียนที่ได้รับจากการถ่ายโอนโดยเปรียบเทียบความคาดหวังกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 จนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2551 ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ประชาชน สัมภาษณ์หัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่น/ตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม และการจัดประชุมสรุปบทเรียนหลังการดำเนินงาน (After Action Review: AAR) ซึ่งได้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
ผลการศึกษาโดยสรุปมีดังนี้
สภาพการดำเนินงานด้านสาธารณสุขขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อก่อนการรับถ่ายโอนสถานีอนามัยตำบลบ้านหม้อนั้น ทั้งสองหน่วยงาน คือ สถานีอนามัยตำบลบ้านหม้อกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว ในด้านการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน ด้านการป้องกันโรคต่างๆ ด้านการค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงเช่น ความดันโลหิตสูง น้ำตาล และไขมันในเลือดสูง ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานเชิงรุก ที่ร่วมกันออกไปให้บริการใกล้บ้านเพราะสภาพการตั้งบ้านเรือนของประชาชนเป็นอุปสรรคในการมารับบริการจากสถานีอนามัย โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่อยู่ในเขตหมู่ 4, 5, และ 6 ซึ่งเป็นลักษณะเมือง เป็นหมู่บ้านจัดสรร นอกจากนี้โรงพยาบาลประจำจังหวัดยังมาเปิดศูนย์ให้บริการตรวจรักษาประชาชนของตำบลบ้านหม้อและตำบลใกล้เคียงในบริเวณที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อทุกเช้าวันจันทร์และวันพุธ
สำหรับความเห็นของหัวหน้าหน่วยงานระดับท้องถิ่น ระดับอำเภอ และระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้นั้น ทุกท่านทุกฝ่ายเห็นด้วยกับการถ่ายโอนและคิดว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งเห็นพ้องต้องกันว่า องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อมีความพร้อมสูงสุดของจังหวัดเพชรบุรีในการรับโอนสถานีอนามัย อันเนื่องมาจากความรู้ความสามารถของนายก อบต. จนเป็นที่ยอมรับของประชาชน และการได้รับรางวัลธรรมาภิบาลติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2546, 2547, 2548, และปี 2550
หลังการถ่ายโอนสถานีอนามัยมาขึ้นต่อองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ บุคลากรที่เป็นพยาบาลวิชาชีพที่มีสองคนไม่สมัครใจโอนย้ายมา องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อจึงยังไม่มีพยาบาลวิชาชีพจนถึงขณะนี้ (สิงหาคม 2551) งานต่างๆ จึงเป็นภาระของนักวิชาการทั้งสองคนที่โอนย้ายมา ปัญหาบุคลากรมีทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือมีจำนวนไม่เพียงพอและเท่าที่มีอยู่ก็ขาดพยาบาลวิชาชีพ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่บุคลากรควรได้รับในเรื่องการพิจารณาความดีความชอบ เพราะผู้มีหน้าที่ในการพิจารณาตัดสินยังเป็นต้นสังกัดเดิม องค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่เสนอเท่านั้น
เมื่อการดำเนินงานภายหลังการถ่ายโอนผ่านมาระยะหนึ่ง ประมาณ 7 เดือน หัวหน้าหน่วยงานระดับท้องถิ่น ระดับอำเภอ และระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้ ได้มาร่วมประชุมเพื่อสรุปบทเรียนจากการปฏิบัติงาน ผลการประชุมสรุปได้ว่า การดำเนินงานด้านสาธารณสุขขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อที่รับโอนสถานีอนามัยมาอยู่ด้วยเป็นไปในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก เพียงแต่ขาดกำลังสำคัญคือพยาบาลวิชาชีพไป แต่ก็มีปัญหาที่เกิดจากการถ่ายโอนฯ บ้าง ในเรื่องระเบียบและแนวปฏิบัติที่ยังไม่ชัดเจน ที่ประชุมจึงต้องการความชัดเจนเพื่อจะได้ปฏิบัติงานได้ด้วยความคล่องตัว
อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังคงพึงพอใจในบริการของสถานีอนามัยและขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อในฐานะที่เป็นผู้ได้รับประโยชน์ ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีคุณภาพสูง มองประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ และทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ประชาชนมาโดยตลอด