บทคัดย่อ
โครงการศึกษา สรุปบทเรียนและติดตามผลการพัฒนาระบบการถ่ายโอนสถานีอนามัยไปยังองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กรณีศึกษา : การถ่ายโอนสถานีอนามัยคลองหินปูน ตำบลคลองหินปูน อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว เป็นกรณีหนึ่งในโครงการศึกษา การถ่ายโอนสถานีอนามัย 22 แห่ง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ ดังรายละเอียดของโครงการศึกษาฯ คณะผู้ศึกษา ได้นำหลักการกระบวนการไปเป็นตัวกำกับในการลงพื้นที่มาตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการเมื่อเดือนธันวาคม 2550 จนถึงกลางเดือนสิงหาคม 2551 โดยใช้กระบวนการศึกษาทั้งแบบสอบถามเชิงปริมาณและการศึกษาเชิงคุณภาพ สรุปสาระสำคัญผลการศึกษาที่เกิดขึ้นดังนี้ ผลการศึกษาจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเขตพื้นที่สถานีอนามัยคลองหินปูนดูแล พบว่า ในกระบวนการดำเนินงานถ่ายโอนสถานีอนามัยไปองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นนั้น ประชาชนส่วนใหญ่รับทราบข่าวเรื่องการถ่ายโอนโดยผ่านการประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย และมีส่วนร่วมในการรับทราบข้อมูลและแสดงความเห็น แต่ขาดการตัดสินใจร่วม ตลอดจนมีส่วนร่วมในการวางแผนด้านสุขภาพและกิจกรรมด้านสาธารณสุขของท้องถิ่น ผลที่เกิดขึ้นในการให้บริการดูแลสุขภาพของประชาชน เปรียบเทียบก่อนและหลังการถ่ายโอน พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ดีมาก การถ่ายโอนครั้งนี้ได้ผ่านกระบวนการภายใต้หลักการ คณะกรรมการ และวิธีการตามนโยบายและมติร่วมของกระทรวงสาธารณสุขและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ความรวดเร็วของการรับข้อมูลข่าวสาร ความเข้มข้นของการปรึกษาหารือ การประชุม มีความถี่ ความครบถ้วนต่างกัน นอกจากนี้ วัฒนธรรมของการทำงานแต่ละแห่งซึ่งเคยชินมาตลอดจน ทัศนคติและบุคลิกภาพของแต่ละหน่วยงาน แต่ละคน มีความต่างกัน (Working Culture And Individual Differences)ทำให้เกิดความไม่สมบูรณ์ของการรับรู้ กระบวนการและรายละเอียดในการบริหารจัดการต่างๆ ประชาชนและอสม. ที่คณะผู้ศึกษาได้พบปะพูดคุยทั้งที่พบระหว่างมาขอรับบริการ ร่วมประชุม พบว่าสถานีอนามัยได้รับความร่วมมือจากประชาชนดี ประชาชนเห็นว่า การมาขอรับบริการจากสถานีอนามัยภายในชุมชนสะดวกเพราะว่าใกล้ ประหยัดค่าใช้จ่ายและเห็นความเต็มใจในการให้บริการของสถานีอนามัย อย่างไรก็ตามการที่สถานีอนามัยสังกัดหน่วยงานใดนั้น อาจไม่สำคัญเท่ากับการมาใช้บริการ สะดวก รวดเร็ว ประหยัด มีบริการเพิ่ม และอัธยาศัยไมตรีของเจ้าหน้าที่ อนึ่งประชาชนยังไม่รับรู้และมีส่วนร่วมในหลักการกระบวนการถ่ายโอนครั้งนี้อย่างเข้มข้นและทั่วถึง การกระจายข่าวสารเรื่องดังกล่าวในระดับชุมชนมีข้อจำกัด เช่น รู้กันในกลุ่มอสม.และผู้นำที่เกี่ยวข้องโดยตรง จากกระบวนการศึกษา พบปะผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายบริหาร ปฏิบัติการ สมาชิกในที่ประชุม และการพูดคุย ได้ข้อสรุปว่า การถ่ายโอนเป็นเรื่องจำเป็นและถูกต้อง ที่จะตอบสนองประชาธิปไตยของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการมีส่วนร่วม หากแต่ส่วนกลางมีนโยบายที่ชัดเจน ไม่เร่งรัด และให้ความสำคัญต่อการสื่อสารอย่างรัดกุม (Communication Process) ทุกขั้นตอน สมควรที่จะใช้ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ (Formal - Informal Process) กระบวนการคิดด้านนโยบายและกระบวนการถ่ายโอนของประเทศในเรื่องนี้ จำเป็น เหมาะสมกับสถานการณ์ของสังคมโลกและสังคมประเทศปัจจุบัน ผ่านการทบทวน ศึกษา แบบแผนตัวอย่างมาเพียงพอที่จะริเริ่มต่อไป กรณีศึกษาครั้งนี้จึงสามารถเป็นบทเรียนให้การคิด ปฏิบัติการการถ่ายโอนสำหรับงานสาธารณสุขหรืองานอื่นๆ ในทั้งระดับท้องถิ่น จังหวัด หรือประเทศ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ