บทคัดย่อ
ยุทธศาสตร์การสร้างและจัดการความรู้ เป็นยุทธศาสตร์ที่หนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท พ.ศ.2550-2554 และเป็นยุทธศาสตร์สำคัญเพราะต้องเชื่อมโยงและขับเคลื่อนอีก 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การพัฒนาระบบสุขภาพ การพัฒนากำลังคน การพัฒนายาไทยและยาสมุนไพร และการคุ้มครองภูมิปัญญาไทย เอกสารวิชาการตั้งต้นของนายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้กรอบและแนวทางในการพัฒนายุทธศาสตร์การสร้างและจัดการความรู้ ซึ่งได้กำหนดมาตรการ 3 มาตรการ ได้แก่ การพัฒนาระบบและกลไกการสร้างองค์ความรู้ และการจัดการความรู้ สถานการณ์การวิจัยและพัฒนา พบว่า นักวิชาการไทยมีศักยภาพในการทำวิจัยจนเป็นที่ยอมรับในระดับชาติ แต่ขาดทิศทางและเป้าหมายการวิจัยร่วมกัน งานวิจัยส่วนใหญ่ใช้ความถนัดของนักวิชาการเป็นตัวกำหนด หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินงานด้านสมุนไพร การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก หน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข สถานบริการสาธารณสุข สถาบันการศึกษา ไม่มีกำหนดทิศทางการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน ขึ้นกับภารกิจของแต่ละหน่วยงาน และอาจขึ้นกับความสนใจ ความถนัดของนักวิชาการแต่ละคน ในส่วนของกองทุนที่สนับสนุนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยและพัฒนา เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มีการสนับสนุนงานวิจัยด้านนี้ แต่ไม่มีการร่วมกันกำหนดทิศทางและวิจัยพัฒนาเช่นเดียวกัน สถานการณ์การจัดการความรู้ พบว่ามีการศึกษาวิจัยมากที่สุด โดยเฉพาะคณะเภสัชศาสตร์ แต่พบว่ายังไม่มีการร่วมกันกำหนดทิศทางการวิจัยและพัฒนาเช่นเดียวกัน สถานการณ์การจัดการความรู้ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเอกชน และเครือข่ายต่างๆ ที่อยู่นอกภาครัฐ หน่วยงานของรัฐยังขาดกระบวนทัศน์ ขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการความรู้ โดยเฉพาะการจัดการความรู้ให้ดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของชุมชน ไม่ใช่การถอดบทเรียนของชุมชน และนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบของนักวิชาการ โดยการจัดทำคู่มือ หนังสือ เอกสารวิชาการเผยแพร่ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิชาการในภาครัฐนิยมทำ การสร้างและการจัดการความรู้ของโครงการฟื้นฟูการนวดไทย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและเครือข่าย เป็นรูปแบบการจัดการความรู้ที่ดี เพราะองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นอยู่กับหมอนวดไทย และกลับไปพัฒนาหมอนวดไทยอย่างต่อเนื่อง การจัดการความรู้ของอินเดีย โดยเฉพาะ Traditional Knowledge Digital Library (TKDL) ได้พัฒนาขึ้นเพื่อนำภูมิปัญญาของการแพทย์ดั้งเดิมมาจัดระบบหมวดหมู่ และบันทึกอย่างเป็นระบบในรูปแบบดิจิทัล และใช้ประโยชน์เพื่อการคุ้มครองภูมิปัญญาดั้งเดิม สภาพปัญหาและอุปสรรคของการสร้างและการจัดการความรู้ในประเทศไทย คือ การขาดแผนแม่บทในการจัดการงานวิจัย การขาดความเข้าใจของภาครัฐ ต่อหลักและแนวทางการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพของชุมชนและเครือข่าย การขาดการสื่อสารสาธารณะ เพื่อให้ชุมชน องค์กรภาคี และเครือข่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการความรู้ร่วมกัน ข้อเสนอต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างและการจัดการความรู้ มี 3 แผน ได้แก่ แผนการส่งเสริมการวิจัยและการสร้างความรู้ แผนการจัดการความรู้ และแผนการเผยแพร่ความรู้สู่สังคม