บทคัดย่อ
การศึกษาผลการเปลี่ยนเวลาใช้ยาลดแรงดันเลือดในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน (วันที่ 1 มกราคม 2551 - 31 ตุลาคม 2551) ซึ่งมารับบริการรักษาที่โรงพยาบาลหนองจิก จ.ปัตตานี 140 ราย โดยการกินยาวันละครั้ง การศึกษาแรงดันเลือดผู้ป่วยในช่วงก่อนเดือนรอมฎอนและขณะรอมฎอนในผู้ป่วยกลุ่มที่เปลี่ยนเวลาในการใช้ยาลดแรงดันเลือด 70 ราย เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่เปลี่ยนเวลาในการใช้ยาลดแรงดันเลือด 70 ราย ดำเนินการโดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียน สมุดบันทึกแรงดันเลือด และบันทึกติดตามผลการเปลี่ยนเวลากินยาในเดือนรอมฎอน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows พบว่า เพศและอายุของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั้งสองกลุ่ม และจำนวนขนานยาลดแรงดันเลือดที่ได้รับไม่แตกต่างกันโดยนัยทางสถิติ ในช่วงรอมฎอนผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีน้ำหนักตัวและแรงดันเลือดขณะหัวใจบีบตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนแรงดันเลือดที่ลดลงขณะหัวใจคลายตัวไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มผู้ป่วยที่เปลี่ยนเวลากินยากับกลุ่มที่ไม่เปลี่ยนเวลากินยา พบว่าแรงดันเลือดขณะหัวใจบีบตัวเฉลี่ยและขณะหัวใจคลายตัวเฉลี่ยไม่แตกต่างกันโดยนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งในช่วงก่อนรอมฎอนและขณะรอมฎอน ผู้วิจัยแนะนำว่าการเตรียมผู้ป่วยก่อนเข้าสู่ช่วงเดือนรอมฎอน โดยให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยาลดแรงดันเลือด ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น และแนวทางป้องกันและแก้ไข เป็นสิ่งจำเป็น
บทคัดย่อ
This study was conducted to determine the effect of changing antihypertensive drug administration time during the period January 1, 2008 to October 31, 2008 among patients who received treatment at Nongjik Hospital, Pattani Province. The 140 patients studied received antihypertensive drugs once daily. Determination of the blood pressure before and during the Ramadan period were carried out among 70 patients without changing drug administration time, compared with those 70 patients with changing the time concerned. Data were collected from OPD cards, glucose level records of the patients, and monitoring change records during the Ramadan period. The SPSS for Windows software package was used to analyze the data.
The distributions by sex, age, and items of antihypertensive drug use were comparable between both groups. Both groups had significantly lower mean weight and systolic blood pressure during the Ramadan period, compared with figures before Ramadan. There were no statistically significant differences in systolic and diastolic blood pressures between both groups.
It is suggested that before the Ramadan period, good health education about food intake, exercise, administration schedules, and hypotension should be given to Muslim patients with hypertension.