บทคัดย่อ
การทบทวนองค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุครั้งนี้จัดทําขึ้นเพื่อรวบรวมและสังเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2545-2550 หลังจากได้ประกาศใช้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติมาแล้ว 5 ปีซึ่งนักวิจัย นักวิชาการจากหลายสถาบันในประเทศทั้งด้านประชากรศาสตร์ ด้านสังคม ด้านสุขภาพ และด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มีความรู้ความชํานาญร่วมกันทบทวนองค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุโดยเน้นสังเคราะห์งานวิจัยที่ผ่านมาว่าประเทศไทยได้ดําเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในด้านต่างๆ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยมากน้อยเพียงใด ยังขาดองค์ความรู้ในด้านใดบ้างที่ควรทําวิจัยเพิ่มเติม และเสนอแนะเชิงนโยบายที่ภาครัฐ และภาคเอกชนยังไม่ได้ดําเนินการหรือดําเนินการยังไม่กว้างขวางครอบคลุม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุต่อไป อย่างไรก็ตามการทบทวนองค์ความรู้ในหนังสือเล่มนี้ไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกเรื่องทุกงานวิจัย แต่พยายามเลือกประเด็นที่สําคัญเพื่อได้เห็นภาพสถานการณ์และสิ่งที่คิดว่าจําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมการเพื่อผู้สูงอายุในอนาคต โดยจัดทําเป็น 8 บทคือ ภาพรวมประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทย ภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุไทยและบริการสุขภาพสําหรับผู้สูงอายุไทย ภาวะทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุครอบครัวและผู้สูงอายุบทบาทของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับผู้สูงอายุ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีสําหรับผู้สูงอายุไทย การเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุ และการดําเนินงานด้านผู้สูงอายุของประเทศไทย พ.ศ. 2545-2550 จากองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้ทบทวนไว้ในหนังสือเล่มนี้สามารถให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบาย ด้านผู้สูงอายุในเรื่องใหญ่ๆ ประการแรก คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงอายุและปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจําเป็นต้องเตรียมการให้คนไทยทุกวัยทั้งวัยทํางาน วัยก่อนสูงอายุและวัยสูงอายุให้มีส่วนรับรู้และเตรียมความพร้อมทั้งด้านการออม การทํางานเพื่อหารายได้ด้านสุขภาพ ประการที่สอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องให้ความสําคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตสําหรับผู้สูงอายุ ประการที่สาม กระทรวงสาธารณสุขควรเร่งพัฒนาระบบบริการการดูแลระยะยาวสําหรับผู้สูงอายุที่มีความจําเป็นต้องการการดูแลระยะยาวซึ่งมีจํานวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่ดีในครอบครัวและชุมชนใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ควบคู่ไปกับการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงช่วยตนเองได้นานที่สุดไม่กลายเป็นผู้ทุพพลภาพจากอุบัติเหตุและโรคเรื้อรัง