บทคัดย่อ
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงเมืองหนึ่งที่มีการเติบโตและพัฒนาที่รวดเร็ว และจัดเป็นเมืองใหญ่ลำดับที่ 22 ของโลก เมื่อพิจารณาในแง่ของประชากรกว่า 8 ล้านคน กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อนลึกกว่า 15 เมตร โดยเป็นที่ราบต่ำลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งโดยเฉลี่ยมีระดับความสูงประมาณ 0-1.5 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง สืบเนื่องจากรายงานขององค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (OECD) ได้มีการวิเคราะห์พบว่านครใหญ่ 9 แห่ง (กัลกัตตา มุมไบ ดัคกา กวางสี เซี่ยงไฮ้ โฮจิมิน ไฮฟอง ย่างกุ้งและกรุงเทพมหานคร) ในทวีปเอเชีย และอีก 1 เมืองใหญ่ในสหรัฐอเมริกา (ไมอามี) อาจจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติน้ำท่วมชายฝั่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประชากรหลายสิบล้านคนจะได้รับผลกระทบ รวมทั้งมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจนับหลายล้านล้านบาท เมื่อเร็วๆ นี้ Economic & Environmental Program for Southeast Asia (EEPSEA) ได้เปิดเผยผลงานวิจัยซึ่งแสดงว่าประเทศในแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศกัมพูชา ประเทศเวียดนาม (บริเวณปากแม่น้ำโขง) ประเทศลาว (ตอนเหนือ และตะวันออก) ประเทศอินโดนีเซีย (เกาะสุมาตรา และชวา) รวมทั้งประเทศไทย (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) ศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต โดย ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ได้ทำการศึกษาและวิจัยถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วนจากบริษัทปัญญา คอนเซาแตนท์ จำกัด ทำการศึกษาโครงการ “ผลกระทบและแนวทางการปรับตัวจากผลพวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารโลก การศึกษานี้มีกำหนดเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 ที่ผ่านมา ผลการศึกษาบางส่วนได้มานำเสนอเพื่อให้สังคมไทยรับรู้ เกิดความเข้าใจ และตระหนักกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น และที่สำคัญเตรียมพร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ด้วยความไม่ประมาท