บทคัดย่อ
เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าองค์การอนามัยโลกร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ดได้ทำการพัฒนาเครื่องชี้วัดที่สามารถบอกถึงภาระของประชากรอันเกิดจากโรคต่างๆ (Disability-Adjusted Life Years--DALYs)1 เพื่อนำมาใช้สะท้อนปัญหาทั้งการป่วย พิการและตาย จำแนกตามสาเหตุการเกิดโรคและการบาดเจ็บต่างๆ ด้วยจำนวนปีที่สูญเสียไปจากการตายก่อนวัยอันควร (Year of Life Lost --YLL) รวมกับจำนวนปีที่มีชีวิตอยู่กับความบกพร่องทางสุขภาพ (Year of Life Lost due to Disability--YLD) และจากผลการศึกษาโดยใช้เครื่องชี้วัดนี้ทำให้พบว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเป็นสาเหตุหลักของการการสูญเสียปีสุขภาวะของประชากรในกลุ่มประเทศระดับรายได้ต่ำและปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 49 รองลงมาคือ กลุ่มโรคติดต่อ ร้อยละ 40 และกลุ่มการบาดเจ็บ ร้อยละ 11 โดยหนึ่งในโรคสำคัญของกลุ่มโรคไม่ติดต่อที่กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อการสูญเสียปีสุขภาวะของประชากรโลก คือ โรคมะเร็ง เห็นได้จากในปี พ.ศ. 2545 ประชากรโลกเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเป็นจำนวนถึง 7.1 ล้านคน เป็นการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับถึงร้อยละ 17 และจำนวนการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับนี้เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2543 ถึง 6 เท่า และเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 30 ในช่วงปี พ.ศ. 2533-2543 ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปในประเทศทั้งที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วต้องเผชิญกับภาระสุขภาพจากโรคมะเร็ง คิดเป็นร้อยละ 6 และ 14 ตามลำดับ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องชี้วัดภาระโรคนี้และตระหนักถึงความสูญเสียปีสุขภาวะอันเกิดจากโรคมะเร็ง หากเปรียบเทียบผลการศึกษาภาระโรคและการบาดเจ็บของประเทศไทยในปี พ.ศ.2542 และ 2547 แสดงให้เห็นว่า ภาระโรคจากโรคมะเร็งตับและมะเร็งปอดในชายไทยเพิ่มสูงขึ้น เท่ากับ 0.3 แสน DALYs และ 0.1 แสน DALYs ตามลำดับ ขณะที่ในหญิงไทย ภาระโรคจากโรคมะเร็งตับเพิ่มขึ้นจาก 1.18 แสน DALYs เป็น 1.25 แสน DALYs นอกจากนี้ยังพบว่า โรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมถูกจัดอยู่ใน 20 อันดับแรกของเป็นสาเหตุของความสูญเสียปีสุขภาวะของหญิงไทย ขณะที่ในปี พ.ศ.2542 ทั้ง 2 โรคนี้ไม่ติดอยู่ใน 20 อันดับแรก ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์โลกโดยเฉพาะในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก โรคมะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุในอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตในผู้หญิง และหากเปรียบเทียบความสูญเสียปีสุขภาวะที่เกิดจากโรคมะเร็งเปรียบเทียบกับกลุ่มโรคอื่นๆ พบว่า กลุ่มโรคมะเร็งทำให้เกิดความสูญเสียปีสุขภาวะในหญิงไทยมากที่สุด เช่นเดียวกับกลุ่มโรคหัวใจ คิดเป็นร้อยละ 13 ของความสูญเสียจากทุกสาเหตุ ขณะที่ในชายไทย คิดเป็นร้อยละ 12 รองจากการบาดเจ็บและความผิดปกติทางจิต ซึ่งเท่ากับร้อยละ 15 และ 13 ตามลำดับ ดังนั้นเพื่อให้ทราบถึงการได้มาซึ่งผลการศึกษาภาระโรคจากโรคมะเร็งของประเทศไทย รายงานฉบับนี้จึงได้แสดงระเบียบวิธีการศึกษาจำนวนปีที่มีชีวิตอยู่กับความบกพร่องทางสุขภาพ (YLD) โดยละเอียด (เนื่องจากข้อมูลเพื่อใช้ในการศึกษาจำนวนปีที่สูญเสียไปจากการตายก่อนวัยอันควร (YLL) ยังไม่ได้รับการปรับปรุง คณะทำงานจะได้ดำเนินการรายงานระเบียบวิธีการศึกษา YLL ภายหลังได้รับข้อมูลที่เป็นปัจจุบันในโอกาสต่อไป)