บทคัดย่อ
ในหลักการให้ความคุ้มครองผู้ใช้แรงงานเพื่อหลักประกันในชีวิตและความมั่นคงทางสังคม ถือได้ว่าอุบัติเหตุอันเกิดจากการทำงาน (Work Accidents) และโรคอันเกิดจากการทำงานหรือการประกอบอาชีพ (Occupational Diseases) ได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ มาก่อนหลักการอื่นๆ ซึ่งประเทศทั้งหลายได้เริ่มใช้หลักเสี่ยงภัยอันเกิดจากการทำงานเพื่อให้นายจ้างต้องรับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนความเสียหายให้แก่ลูกจ้างเกี่ยวกับการประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยด้วยโรคหรือตายอันเกิดจากการทำงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดขึ้นตามกฎหมายเงินทดแทนลูกจ้าง (Workmen’s Compensation Act) และให้ถือว่าเงินค่าทดแทนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิต จากการศึกษาพบว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตจำนวนมากในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กระจายอยู่มากมายในขณะนี้ มีการใช้สารเคมีต่างๆ และเครื่องจักรอันตราย ที่ยังขาดระบบการรองรับการป้องกันที่ดีพอ ปัญหาที่ผู้ใช้แรงงานไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ได้ เพราะรัฐยังขาดการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายสนับสนุนงานด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมและในมิติทางด้านสุขภาพและความปลอดภัยอย่างจริงจัง จึงทำให้ไม่มีงบประมาณและขาดบุคลากรทางการแพทย์และหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และการตรวจสอบสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการอย่างเพียงพอและระบบการรวบรวมข้อมูลรายงานโรคและการบาดเจ็บจากการประกอบอาชีพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีเอกภาพ ไม่มีเกณฑ์วินิจฉัยโรคจากการทำงานที่เป็นมาตรฐานและกระบวนการพิสูจน์สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ก็ใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน รวมถึงอัตราการทดแทนรายกรณีตามสิทธิประโยชน์นั้นก็ใช้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว ไม่สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพและสูญเสียโอกาสในการทำงานระยะยาวของลูกจ้างและนายจ้างส่วนใหญ่ไม่ยอมรับว่า ลูกจ้างเจ็บป่วยด้วยโรคหรือประสบอันตรายอันเนื่องจากการทำงาน ลูกจ้างจึงถูกผลักไปใช้สิทธิ์กองทุนประกันสังคม กลายเป็นการเจ็บป่วยและประสบอันตรายนอกงาน ด้วยการกลัวเสียภาพลักษณ์ของสถานประกอบการ ชื่อเสียงของสินค้าหรือต้องลงทุนปรับปรุงแก้ไขสถานที่และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ลูกจ้างจำนวนมากขาดความรู้ ความเข้าใจ เมื่อเจ็บป่วยหนักประสบอันตรายหรือเป็นโรคเรื้อรังบ้างก็ลาออกเพราะทนกับสภาพไม่ไหวหรือถูกนายจ้างให้ออกจากงาน กลับสู่ภูมิลำเนาเดิมหรือไปประกอบอาชีพอื่น ทำให้ต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่ต้องตายผ่อนส่ง ต้องรักษาตนเองตามยถากรรมและใช้ชีวิตที่มืดมนไร้ซึ่งอนาคต ผลการศึกษาของคณะวิจัยได้จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงและผลการศึกษาพบว่าวิธีการศึกษานี้ มีคุณค่าในเชิงประจักษ์ สามารถนำไปใช้ได้และมีความน่าเชื่อถือและน่าสนใจ ตามที่มีข้อเสนอแนะทางออกต่อบุคคลและหน่วยงานหลักๆ ใน 4 ส่วนด้วยกัน คือ 1) ลูกจ้างและองค์กรลูกจ้าง 2) นายจ้างและองค์กรนายจ้าง 3) สำนักงานกองทุนเงินทดแทน 4) รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วนต้องมีนโยบายในการทำให้เรื่องการพัฒนาระบบงานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม งานเรื่องสุขภาพความปลอดภัยเป็นแผนงานชาติและบูรณาการ เพื่อให้มีระบบรองรับของการพัฒนาอุตสาหกรรม การเฝ้าระวัง ป้องกันผลกระทบกับการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและการเข้าถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้ใช้แรงงานตามกฎหมาย พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 อย่างเป็นธรรมและในระดับนโยบายควรมีการจัดองค์กรอิสระ (สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน) ที่เป็นธรรมาภิบาลมีส่วนร่วมและบูรณาการ มาทำงานด้านการคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานให้กับแรงงานไทย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี