บทคัดย่อ
การดำเนินการที่ผ่านมาของการจัดทำรายงานสถิติทรัพยากรสาธารณสุขของประเทศ สำหรับการเผยแพร่ข้อมูล โดยหน่วยงานงานพัฒนาข้อมูลทรัพยากรสาธารณสุข กลุ่มภารกิจด้านข้อมูลข่าวสารและระบบสารสนเทศสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในการสำรวจข้อมูลระดับปฐมภูมิ (Primary Data) ตามสถานพยาบาลสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นรายหน่วยงานมีปัญหาความล่าช้าในการส่งข้อมูล และยังขาดความสมบูรณ์ในการติดตามและประสานงานระหว่างหน่วยงานอยู่บ้าง
กลุ่มงานฯ จึงได้มีการทบทวนสถานการณ์การจัดทำระบบข้อมูลการสำรวจทรัพยากรสุขภาพของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 – 2551 สามารถแบ่งขั้นตอนการรวบรวมรายงานทรัพยากรสาธารณสุขได้ 8 ช่วง โดยเริ่มตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลแยกเป็นส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง การพัฒนาให้มีการกำหนดรหัสข้อมูลในการบันทึกข้อมูล ก่อนประมวลผลข้อมูล ต่อมาได้มีการนำเทคโนโลยีเครื่องคอมพิวเตอร์มาสนับสนุนการประมวลผลข้อมูลทรัพยากรสาธารณสุข จากนั้นได้มีการกำหนดขั้นตอนการได้รับข้อมูลระดับปฐมภูมิ (Primary Data) จากหน่วยงานส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ซึ่งมีการตรวจสอบ ทบทวน และทวงถาม เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของข้อมูลก่อนการนำไปใช้งานต่อไป และเริ่มมีการมอบหมายหน่วยงานที่ชัดเจนในการสำรวจและรวบรวมข้อมูลตามสถานพยาบาลทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง ปัจจุบันได้เริ่มนำระบบสารสนเทศเพิ่มการจัดการ (Management Information System : MIS) ในลักษณะการใช้ระบบฐานข้อมูลการรายงานเพื่อการจัดการ (Management Reporting System : MRS) โดยการบันทึกข้อมูลในเครือข่ายบนเวปไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับการทบทวนภาพรวมสถิติทรัพยากรสุขภาพ ทั้งด้านบุคลากร การให้บริการสถานบริการสาธารณสุข และงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 – 2550 พบว่า บางส่วนจะไม่มีมีบันทึกสถิติบันทึกไว้ และแนวโน้มของข้อมูลจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2541 จะมีแนวโน้มเฉลี่ยเพิ่มเล็กน้อยหรือลดลงเล็กน้อย ยกเว้นข้อมูลสถิติด้านบุคลากรของพยาบาลเทคนิคที่มีลักษณะโค้งรูประฆังคว่ำ ส่วนข้อมูลครุภัณฑ์ทางการแพทย์มีเพียงปี พ.ศ. 2545 – 2550 เท่านั้น บางข้อมูลจะขาดช่วงไม่ต่อเนื่องในการบันทึกข้อมูล คือ จำนวนประชากรที่มารับบริการครั้งแรกของสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่จะนำมาวิเคราะห์หรือเปรียบเทียบข้อมูลในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงการพยากรณ์ข้อมูลด้านทรัพยากรสุขภาพในอนาคต