บทคัดย่อ
ท่ามกลางการตีความเพื่อ (กีด)กันมนุษย์ไร้รัฐ (หรือไร้เลข 13 หลัก)/ไร้สัญชาติ ออกจากการเป็นผู้ทรงสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ใน พ.ศ.2551 โดยการสนับสนุนของสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย หรือ สวปก. (เพื่อสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติในประเทศไทย ได้ดำเนินงานวิจัยย่อย 6 ชุดเพื่อสำรวจสภาพปัญหาต่างๆที่คนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติต้องเผชิญ เมื่อใครสักคนในครอบครัวเกิดล้มเจ็บป่วยลงจำนวน 10 กรณี และในอีกด้านหนึ่ง เมื่อผู้ป่วยไร้รัฐ/ไร้สัญชาติไปถึงสถานพยาบาล ในสถานการณ์ที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคุ้มครองเฉพาะ “ผู้มีสัญชาติไทย”นั้น สถานพยาบาลมีท่าทีรับมือ/จัดการกับกรณีนี้อย่างไรบ้างในระดับปัจเจก รวมทั้งการศึกษาในด้านข้อกฎหมาย ทั้งกฎหมายภายในประเทศ และอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคี รวมถึงประสบการณ์การจัดหลักประกันสุขภาพในต่างประเทศ
ข้อค้นพบคือผู้ป่วยไร้รัฐ/ไร้สัญชาติส่วนใหญ่ไม่ถูกปฏิเสธการรักษาจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ แต่ความยากจนก็ทำให้คนเหล่านี้ไม่มั่นใจในการไปขอใช้บริการ เว้นเสียแต่อาการทรุดหนักลง ภาระผูกพันที่ตามมาคือหนังสือแจ้งสภาพหนี้ สถานพยาบาลหลายแห่งพยายามจัดการรับมือกับผู้ป่วยไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ ซึ่งแตกต่างกันออกไป มีสถานพยาบาลบางแห่งสามารถก้าวพ้นการจัดการปัญหาแบบเดิมๆ ด้วยการผลักดันบัตรประกันสุขภาพทางเลือกออกมา ส่วนในด้านกฎหมายพบว่า ยังไม่เคยมีการหารือเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย หรือขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในประเด็นผู้ทรงสิทธิแห่งกฎหมายหลักประกันสุขภาพแต่อย่างใด การตีความโดยพิจารณาว่า บุคคลหมายถึง ผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้นเป็นการตีความที่ขัดแย้งและละเมิดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และขัดต่อพันธกรณีที่ประเทศไทยผูกพันในฐานะรัฐภาคี รวมทั้งสิ้น 5 ฉบับ
ข้อเสนอแนะของงานวิจัย คือ ควรพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ สปสช.ควรเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอมติคณะรัฐมนตรีในการกำหนดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อคุ้มครองสิทธิในสุขภาพให้กับคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ เฉกเช่นกับที่รัฐบาลไทยเคยดำเนินการเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิในทางการศึกษาของเด็กไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ และในระยะสั้น เสนอแนะให้สปสช.เข้าร่วมมือกับภาคประชาสังคมที่ก่อตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพทางเลือก” เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการเข้าถึงสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่กลุ่มบุคคลนี้