บทคัดย่อ
โครงการการพัฒนาโครงการการจัดการความรู้และการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ๓ ภาคีหลัก ซึ่งได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) มีวัตถุประสงค์เพื่อเวทีระดมสมองโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการตั้งโจทย์และกำหนดลำดับความสำคัญของประเด็นการวิจัย ๖ กลุ่ม ได้แก่ บทบาทของหน่วยบริการประจำต่อการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิ ระบบบริการและบริการปฐมภูมิเขตเมือง การพัฒนาระบบเครือข่ายบริการและการส่งต่อ บทบาทโรงพยาบาลชุมชนในการพัฒนาระบบและคุณภาพบริการ การจัดซื้อบริการและการบริหารในพื้นที่ การพัฒนาระบบความปลอดภัยของผู้ป่วยและคุณภาพบริการ เพื่อรวบรวมประเด็นสำคัญสำหรับการทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในอนาคต และสรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้ ๑) บทบาทของหน่วยบริการประจำต่อการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ การศึกษาหารูปแบบและประเภทการสนับสนุนของหน่วยบริการประจำต่อหน่วยบริการปฐมภูมิ ความเป็นไปได้ที่จะให้หน่วยบริการปฐมภูมิในชนบทเป็นอิสระและผลกระทบต่อแม่ข่าย ๒) ระบบบริการและบริการปฐมภูมิเขตเมือง ได้แก่ การศึกษาเปรียบเทียบการจัดการของโรงพยาบาลแม่ข่ายเขตเมืองขนาดใหญ่ต่างๆ และผลบริการ การพัฒนาเครือข่ายบริการและการเพิ่มหน่วยบริการปฐมภูมิในเขตเมืองและกรุงเทพ กลไกการเงินเพื่อสนับสนุนบริการปฐมภูมิเขตเมือง บทบาทขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการ และผลกระทบต่อโรงพยาบาลแม่ข่ายกรณีหน่วยบริการปฐมภูมิเป็นอิสระ ๓) การพัฒนาระบบเครือข่ายบริการและการส่งต่อ ได้แก่ ความเป็นไปได้ในการจัดการศูนย์ประสานงานส่งต่อระดับชาติ การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพศูนย์ส่งต่อในโรงพยาบาลเพื่อดูแลการส่งต่อ การส่งกลับและการให้บริการเชิงรุกต่อเนื่องในพื้นที่ ปัญหาการส่งต่อและการปฏิเสธไม่รับส่งต่อ การสำรวจทรัพยากรและพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการเพื่อการใช้ทรัพยากรร่วมในการจัดระบบบริการและส่งต่อในพื้นที่ การจัดการทางการเงินเพื่อการส่งต่อที่มีคุณภาพ ๔) บทบาทของโรงพยาบาลชุมชนในการพัฒนาระบบและคุณภาพบริการ ได้แก่ การพัฒนาระบบให้คำปรึกษาด้านบริการและการพัฒนาเครือข่าย ระหว่างโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่และหน่วยบริการปฐมภูมิ ผลกระทบของปัญหาสุขภาพกับศักยภาพบริการ การพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการผลิตเพื่อพัฒนาบุคลากรสุขภาพให้สามารถทำงานในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ๕) รูปแบบการจัดซื้อบริการและการบริหารระบบในพื้นที่ เสนอให้ทดลองดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง และประเมินผลการดำเนินการให้ครอบคลุมทุกด้าน เช่น การจัดการทางการเงินและการจัดสรรงบประมาณ โครงสร้างการบริหาร การจัดการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อให้บริการตอบสนองต่อความต้องการของพื้นที่ และการปรับปรุงกฎ/ระเบียบเพื่อเอื้อต่อการดำเนินการดังกล่าว ๖) การพัฒนาระบบความปลอดภัยของผู้ป่วยและพัฒนาคุณภาพบริการ โดยการศึกษาในลักษณะ multi-centers study ร่วมกับโรงพยาบาลและราชวิทยาลัยต่างๆ เพื่อพัฒนาวิธีการดูแลผู้ป่วย พัฒนาแนวปฏิบัติและสร้างดัชนีชี้วัดในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพบริการ