บทคัดย่อ
หากเปรียบผู้สูงอายุเหมือนดอกลำดวนสังคมไทยตอนนี้ก็คงคล้าย “ดงลำดวน” เพราะถึงวันนี้คงไม่มีใครกังขาอีกว่าสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” มากขึ้นเรื่อยๆ อีกไม่นานจากนี้ เราจะมีคนวัย 60 ขึ้นไปมากถึง 1 ใน 4 ของประชากรบ้านเรา นั่นจะเปลี่ยนสังคมไทยครั้งสำคัญในระดับโครงสร้างหลายๆ เรื่องและกระทบกับทุกคน คำถามสำคัญคงไม่ใช่เรื่องจะเผชิญหน้าหรือไม่ หากแต่เป็นจะเผชิญหน้าอย่างไร สังคมไทยเปรียบบิดามารดาและผู้สูงอายุเสมือน “พรหม” ของลูกหลาน “ความกตัญญู” ต่อท่านเหล่านั้นจึงเป็นทั้งหน้าที่ทางสังคมและจิตวิญญาณของคนไทยที่ถูกหล่อหลอมด้วยระบบสังคม วัฒนธรรมและจารีตประเพณีมานับแต่ประวัติศาสตร์ แต่วันนี้วิธีแสดงออกถึงความกตัญญูของครอบครัวไทยกำลังจะถูกท้าทายครั้งใหญ่ว่าทำอย่างไรจึงจะเท่าทันการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน หลายภาคส่วนในสังคมกำลังใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะหาคำตอบนี้ตามบทบาทของตน หลายชุมชนทั่วประเทศกำลังค้นหาคำตอบนี้ในวิถีและบริบทของพื้นที่ตนเอง ในจำนวนนั้นมีความสำเร็จเรืองรองจาก 5 ชุมชน ที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าน่าจะเป็น “ทิศ” “ทาง” และ “ธง” นำทางสู่ภาพอนาคตระบบการดูแลผู้สูงอายุไทยที่ยั่งยืนและห้าชุมชนดังกล่าว คือที่มาของหนังสือเล่มนี้ หนังสือที่จะช่วยฉายภาพโลกผู้สูงอายุไทย สถานการณ์และการเปลี่ยนแปลง พร้อมๆ กับนำเสนอภาพความพยายามดังกล่าวในชุมชนทั้งห้า เราหวังเหลือเกินว่าประสบการณ์และบทเรียนหลากหลายจากบ้านแพ้วถึงปากพูนที่นำเสนอจะสามารถช่วยกระตุ้นความคิด จินตนาการ ให้ผู้อ่านเห็นภาพอนาคตสังคมไทยและลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในระดับที่ตนเองทำได้ ในอันที่จะสร้างสรรค์ระบบอนาคตที่เราต้องการสามารถเติมความหวังให้ผู้อ่านมีกำลังใจยิ้มรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงอย่างมีสติหรืออย่างน้อยสามารถแสดงความ “รักและกตัญญู” กับผู้สูงอายุรอบตัวได้อย่างถูกต้องและเท่าทัน