บทคัดย่อ
ในช่วง 20 ปีก่อนปัญหาเรื่องผู้สูงวัยยังไม่เด่นชัด บ้านเรามีผู้สูงอายุก็จริงแต่ยังไม่มาก เราจึงไม่เห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยนี้เท่าไรนัก กระทั่งปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (ประชากรอายุเดินกว่า 60 ปีมีกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด) หลายฝ่ายจึงเริ่มเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ เมื่อศึกษาย้อนหลังเกี่ยวกับเรื่องนี้จะพบว่า สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี น่าจะเป็นองค์กรแรกๆ ที่ทำเรื่องผู้สูงอายุ โดยจัดให้มีการสัมมนาเตรียมตัวก่อนเกษียณอายุขึ้นครั้งแรกที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2533 ตอนนั้นมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาถึง 150 คน และยังคงทำมาทุกปีจนปัจจุบัน ซึ่งเราจะเห็นว่ามีการตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้นในหลายองค์กร หลายหน่วยงาน อย่างไรก็ดี แม้จะมีมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเป็นประโยชน์แก่ผู้สูงวัย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ผู้สูงวัยจึงไม่ควรฝากชีวิตไว้กับภาครัฐอย่างเดียว แต่ควรที่จะช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด เพื่อที่จะอยู่ได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน โดยเตรียมพร้อมในหลายๆ ด้าน คือ ประการที่ 1 “เตรียมใจ” ไม่มีใครหลีกหนีช่วงวัยนี้พ้น สังขารที่เสื่อมไปเป็นเรื่องธรรมชาติ แค่ใจเราพร้อมรับ เราก็จะก้าวสู่วัยสูงอายุอย่างรู้เท่าทัน ประการที่ 2 “เตรียมสุขภาพ” นับเป็นเรื่องสำคัญสำหรับวัยนี้ ถึงจะมีเงินทองมากเท่าไร แต่ถ้าสุขภาพไม่ดีก็ไม่สามารถใช้เงินได้ แถมยังต้องจ่ายเงินแพงๆ เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยอีก การไม่มีโรคจึงถือเป็นลาภอันประเสริฐ ที่จะเกิดขึ้นได้ก็จากตัวผู้สูงอายุเองว่าดูแลตัวเองมากน้อยแค่ไหน ทั้งในเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การงดพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลต่อสุขภาพ การคลายเครียดต่างๆ ประการที่ 3 “เตรียมเงิน” ต้องเตือนตนเองว่าให้เริ่มออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อย การออมเงินก็เหมือนน้ำซึมบ่อทราย แรกๆ อาจยังไม่เห็นเป็นกอบเป็นกำ แต่เมื่อแก่ตัวลง เราจะไม่นึกเสียดายวันเวลาที่เราค่อยๆ เก็บหอมรอมริบ เพราะเมื่อถึงบั้นปลายชีวิต เราสามารถใช้เงินที่สะสมไว้อำนวยความสุขให้ตัวเองได้อย่างไม่ขัดสน ตรงกันข้ามถ้าหากไม่ได้เตรียมเรื่องนี้เลย จะยิ่งลำบาก ประการที่ 4 “เตรียมงาน” จากที่เคยทำงานมาตลอด พอถึงวัยเกษียณต้องปลดระวางจากการงานทั้งหลาย ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักทำใจไม่ได้ จะรู้สึกเหงา เดียวดาย ไร้คุณค่า หากได้เตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมงานไว้ก่อนก็จะช่วยได้มาก งานที่ว่าอาจไม่จำเป็นต้องสร้างรายได้เสมอไป อาจเป็นงานอดิเรกที่ตนสนใจ งานสังสรรค์ งานอาสาสาสมัคร งานตอบแทนสังคม/ชุมชน ประการที่ 5 “เตรียมบ้าน” ยังนับว่าเป็นเรื่องโชคดีที่ครอบครัวไทยยังเป็นครอบครัวที่ร่มเย็น ผู้สูงอายุได้อยู่แวดล้อมกับลูกๆ หลานๆ แน่นอนว่าย่อมดีกว่าอยู่คนเดียว อย่างน้อยบ้านก็ยังมีความอบอุ่น มีการถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ จากรุ่นสู่รุ่น โดยมีผู้สูงอายุเป็นแบบอย่าง เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมจากเอกสารที่เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุหลายเล่ม โดยนำเรื่องที่เป็นประโยชน์มาให้ผู้สูงอายุได้ศึกษาเพื่อจะได้นำไปปฏิบัติและเพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีสุขภาพที่ดี ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลานและสังคม ผู้เขียนหวังว่าผู้สูงอายุทุกท่านที่ได้ศึกษาและนำไปปฏิบัติจะมีชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุข